วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

สารป้องกันและกำจัดโรคพืช ตอนที่ 22

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำ ชื่อสารเคมี(ชื่อสามัญ) ชนิดต่างๆ  มาเผยแพร่ให้เกษตรกร,ผู้สนใจ,ฯลฯ ได้รู้ถึงประโยชน์, อันตราย, และความเป็นพิษเพื่อจะได้เลือกใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง(ในกรณีที่จำเป็น) มิได้ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้อ่านใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เพียงแต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี  ก็ควรใช้อย่างรู้คุณและโทษของมันอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรและผู้ใช้เองต้องตกเป็นเหยื่อของพิษ ภัยจากการใช้สารเคมีโดยมิได้รู้แจ้ง ซึ่ง ทางผู้โพสหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย  สำหรับท่านที่มีเพื่อน,มิตร,ญาติสนิท,ฯลฯ ที่ทำเกษตร หรือเกี่ยวข้องทางด้านนี้อยู่ ก็รบกวนช่วยนำไปเผยแพร่นะครับ ผมเองได้ข้อมูลมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำการเกษตรอยู่ จาก หนังสือ "สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย"  เป็นหนังสือที่หาค่อนข้างยาก ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์อีกหรือไม่ แต่ข้อมูลก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรักต้นไม้,เกษตรกร,หรือคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบกัน
 (นายยักษ์เขียว)


วินโคลโซลิน
(vinclozolin)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดเชื้อรา  dicarboximide  หรือ  oxazolidine  ประเภทไม่ดูดซึม  ออกฤทธิ์ให้ผลในทางป้องกันโรคพืชและทำให้สปอร์ไม่งอก
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  10,000  มก./กก.  ทางผิวหนัง  มากกว่า  2,500  มก./กก.  (หนู)
โรคพืชที่กำจัดได้        โรคลำต้นเน่าที่เกิดจากเชื้อ  Altermaria  และ  Botrytis  โรคเน่าสีน้ำตาล  โรค  Dollar  spot  โรคFusarium  patch  โรคใบจุด  และโรคที่เกิดจากเชื้อ  Sclerotinia  และ  Monillia  spp.
พืชที่ใช้                   ผักกาดขาว  องุ่น  ถั่วแขก  และถั่วอื่น ๆ  คื่นฉ่าย  หอม  มะเขือเทศ  สตรอเบอร์รี่  พริกไทย  แตงกวา  และพืชอื่น ๆ
สูตรผสม                  50ดับบลิวพี  และ  เอสซี
อัตราใช้และวิธีใช้        ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก  ผสมกับน้ำฉีดพ่นที่ใบพืช  ทุก  7-14  วัน  ให้ใช้ก่อนที่พืชจะเป็นโรค
การแก้พิษ                ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ  รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้                    - ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว  7-14  วัน
                             - เป็นอันตรายเมื่อถูกผิวหนังและอาจทำให้ดวงตาเกิดอาการระคายเคือง
                             - เข้ากับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ ได้
                             - ไม่เป็นอันตรายต่อผึ้ง

ไซเน็บ
(zineb)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดเชื้อรา  dithiocarbamate  ออกฤทธิ์ให้ผลในทางป้องกันโรคพืช
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  5,200  มก./กก.  ทางผิวหนัง  (หนู)  มากกว่า  6,000  มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้        โรคราน้ำค้าง  โรคใบไหม้  โรคราสนิม  โรคแอนแทรคโนส  โรคใบจุด  โรคราดำ  โรคกุ้งแห้งและอื่น ๆ
พืชที่ใช้                   องุ่น  ถั่ว  มันฝรั่ง  มะเขือเทศ  หอม  กระเทียม  พริก  ผักต่าง ๆ  แอสพารากัส  กะหล่ำปลี  กะหล่ำดอก  แครอท  คื่นฉ่าย  ส้ม  ข้าวโพด  ฝ้าย  แตงกวา  มะเขือ  คะน้า  ผักกาดหอม  แตงโม  พริกไทย  ฟักทอง  สตรอเบอร์รี่  ยาสูบ  และอื่น ๆ
สูตรผสม                  70และ  80%  ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้        โดยทั่วไปใช้อัตรา  40-80  กรัม  ผสมกับน้ำ  20  ลิตร  กวนให้เข้ากันดี  แล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช  ใช้ซ้ำได้ทุก  1-2  อาทิตย์ต่อครั้ง
อาการเกิดพิษ            ถ้ากลืนกินเข้าไป  จะมีอาการคลื่นไส้  อาเจียน  ท้องเสียและเซื่องซึม  ถ้าถูกผิวหนัง  เยื่อบุดวงตาและจมูก  อาจทำให้เกิดอาการอักเสบ  บวมแดง
การแก้พิษ                ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่  ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ๆ  ถ้ากินเข้าไปต้องรีบทำให้อาเจียน  แล้วล้างท้องด้วย  laxative  salt  แล้วรักษาตามอาการ
ข้อควรรู้                    - ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว  1-2  อาทิตย์
                             - ไม่เข้ากับสารอื่นที่มีสภาพเป็นด่างหรือมีสารปรอทเป็นองค์ประกอบ
                             - ใช้ฉีดพ่นก่อนที่พืชจะเป็นโรค
                             - เข้ากับสารกำจัดเชื้อราและสารกำจัดแมลงอื่น ๆ ได้

 คราวหน้า มาเริ่มกันที่ สารกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น