วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความสำคัญของไส้เดือนฝอยศัตรูพืชต่อผลผลิตทางการเกษตร ของประเทศไทย

ไส้เดือนฝอย Meloidogyne incognita
มันฝรั่งทีุู่โดนไส้เดือนฝอยรากปมเข้าทำลาย

           ไส้เดือนฝอย (Nematode) จัดเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง มีรูปร่างลักษณะคล้ายเส้นด้าย อาศัยอยู่ได้ทุกหนทุกแห่งทั่วโลก เช่น ในดิน ทะเล แม่น้ำ แม้กระทั่งน้ำพุร้อนหรือทะเลทราย   บางท่านเข้าใจผิดิดคิดว่าไส้เดือนฝอยคือ ไส้เดือนดินตัวเล็ก ๆ แต่ความเป็นจริงแล้วไส้เดือนฝอยเป็นสัตว์ในกลุ่มของพยาธิตัวกลมนั่นเอง ไส้เดือนฝอยมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นประโยชน์ ดำรงชีพอย่างอิสระ เป็นศัตรูของคนและสัตว์ เช่น พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด ฯลฯ และที่เป็นศัตรูพืช ในที่นี้จะขอกล่าวถึงไส้เดือนฝอยศัตรูพืชและความสำคัญของไส้เดือนฝอยศัตรู พืชต่อผลผลิตทางการเกษตรและการส่งออกนำเข้าของประเทศไทย
           ไส้เดือนฝอยศัตรูพืช (Plant Parasitic Nematodes) เป็นสัตว์ขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายเส้นด้าย มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องมองผ่านกล้องจุลทรรศน์  ความยาวเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 0.2-2 มิลลิเมตร ส่วนปากมีอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายเข็ม เรียกว่า stylet เป็นส่วนที่ใช้แทงเซลล์พืชและปล่อยเอ็นไซม์เพื่อเข้าทำลายและดูดสารอาหารจากพืช เปรียบเสมือนพยาธิพืชนั่นเอง ไส้เดือนฝอยเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยโดยการลอกคราบ โดยการลอกคราบครั้งแรกเกิดขึ้นในไข่ เป็นตัวอ่อนระยะที่สองซึ่งเป็นระยะเข้าทำลายพืช จากนั้นจะทำการลอกคราบอีก 3 ครั้งจนเป็นตัวเต็มวัย  ไส้เดือนฝอยเพศเมียบางชนิดมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง คือ มีรูปร่างค่อนข้างกลมคล้ายผลมะนาว หรือมีลักษณะคล้ายถุง ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชส่วนใหญ่ดำรงชีวิตในดินและเข้าทำลายรากพืช ทำให้พืชเกิดอาการรากปม รากแผล รากกุด รากเน่า เป็นต้น แต่มีบางชนิดที่สามารถเข้าทำลายพืชในส่วนที่อยู่เหนือดิน เช่น ใบ ดอก เมล็ด ทำให้เกิดโรคใบไหม้ บิดเบี้ยว เป็นต้น ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับพืชโดยทำให้ผลผลิตเสียหายและคุณภาพผลผลิตลด ลง
           ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชมีหลายชนิด โดยชนิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงในประเทศไทย ได้แก่ ไส้เดือนฝอยรากปม มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Meloidogyne spp. เป็นศัตรูพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งจำแนกย่อยได้ออกเป็นหลายชนิด  ประวัติการตรวจพบไส้เดือนฝอยศัตรูพืชที่ผ่านมาที่พบมากคือไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita  ซึ่งเป็นไส้เดือนฝอยที่พบระบาดอยู่ทั่วไปในหลายประเทศ  ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ทุกกลุ่ม เช่น พืชหัว พืชผัก ไม้ผล พืชเส้นใย ไม้ดอก ไม้ประดับ และ ธัญพืช เป็นต้น ไส้เดือนฝอยรากปมนั้น มีพืชอาศัยมากกว่า 2,000 ชนิด เช่น มันฝรั่ง พริก มะเขือเทศ ยาสูบ ขิง ฝรั่ง ข้าว ฝ้าย เยอบีรา ฯลฯ โดยทำให้พืชแสดงอาการแคระแกรน โตช้า ใบเหลือง เหี่ยว  ผลผลิตได้รับความเสียหาย เนื่องจากระบบรากถูกทำลาย ทำให้เกิดปุ่มปมจำนวนมากที่รากพืช โดยไส้เดือนฝอยระยะเข้าทำลายจะใช้อวัยวะที่เรียกว่า stylet แทงเข้ารากพืชและปล่อยเอ็นไซม์เพื่อทำลายเซลล์รากให้อ่อนนุ่ม จากนั้นตัวอ่อนไส้เดือนฝอยจะเข้าไปในรากพืชและดูดสารอาหารจากพืช ทำให้พืชขาดอาหารและสรีรวิทยาของพืชผิดปกติ ไส้เดือนฝอยจะลอกคราบอีก 3 ครั้งแล้วเจริญเป็นตัวเต็มวัย โดยเพศเมียจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างมีลักษณะค่อนข้างกลมและสามารถออกไข่ได้ ประมาณ 100-250 ฟองได้โดยไม่ต้องรับน้ำเชื้อจากเพศผู้ โดยวงจรชีวิตของไส้เดือนฝอยใช้เวลาประมาณ 25 วันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเป็นหลัก โดยอุณหภูมิสูงจะครบวงจรชีวิตเร็วขึ้น
           ในประเทศไทยไส้เดือนฝอยชนิดนี้ทำ ความเสียหายอย่างรุนแรงในพืชหลายชนิด โดยทั่วไปสามารถพบการระบาด กับพืชที่ไส้เดือนฝอยเข้าอาศัยอยู่ ได้แก่
 
           1. ธัญพืช เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี
           2. พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง
           3. พืชเส้นใย เช่น ฝ้าย ปอ หม่อน
           4. ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น เยอบีรา เบญจมาศ กุหลาบ
           5. ไม้ผล เช่น ส้ม กล้วย องุ่น มะละกอ ฝรั่ง
           6. พืชหัว เช่น มันฝรั่ง มันเทศ เผือก

           7. พืชผัก เช่น ผักคะน้า กระเทียม ผักกาดหอม มะเขือเทศ

รากพริกที่ถูกไส้เดือนฝอยรากปมเข้าทำลาย
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างไส้เดือนฝอยรากปมของพริกและการป้องกันกำจัด จากข้อมูลการสำรวจพื้นที่และการให้บริการวิชาการเรื่องความรู้เรื่องการ ป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยรากปมในพริก โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับความร่วมมือจากสถานีวิจัยพืชไร่ จ. อุบลราชธานี ในหลายอำเภอได้ข้อมูลความเสียหายดังนี้ จังหวัดอุบลราชธานีปลูกพริก ประมาณ 7,861 ไร่ เฉลี่ยครอบครัวละ 1-3 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูก 1 ครั้งต่อปี พบปัญหาไส้เดือนฝอยมากที่สุด และความเสียหายที่เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม ประมาณ 3,000 ไร่ ผลผลิตลดลง 50-100% นับเป็นมูลค่าถึง 50-80 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงมาก 


แนวทางการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยรากปมในพริกโดยลดการใช้สารเคมีจึงมีความ สำคัญ และพอสรุปได้ดังนี้
  1. หลีกเลี่ยงการปลูกพริกอย่างต่อเนื่องบนพื้นที่เดิม ควรไถดินขึ้นและพักไว้ให้ความร้อนจากแสงแดดฆ่าตัวอ่อนและไข่ไส้เดือนฝอยรากปมในดิน
  2. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชเหล่านี้หลังจากปลูกพริก เช่น มะเขือเทศ พืชตระกูลแตง พืชผักหลังจากการปลูกพริกเนื่องจากพืชเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารที่ ไส้เดือนฝอยรากปมสามารถเจริญและแพร่พันธุ์ได้เป็นอย่างดี ให้ปลูกพืชเหล่านี้สลับกับการปลูกพริก เช่น ดาวเรือง ถั่วลิสง หรือ ปอเทือง เพื่อลดประชากรของไส้เดือนฝอยในดิน
  3. ใช้เชื้อรา พาซิโลมัยซิส เพื่อป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอย รองก้นหลุมก่อนเพาะปลูก และใช้ผสมน้ำราดหรือฉีดพ่นผิวดิน เมื่อพบการระบาดทุก ๆ 10-15 วัน เพื่อทำลายไข่และตัวเต็มวัยของไส้เดือนฝอยรากปม และป้องกันการเข้าระบาดซ้ำ
ขอบคุณข้อมูลจาก guru.sanook.com และ คณะเกษตร  ภาควิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น