วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557


           ว่างเว้นงานเขียน Blog ห่างหายไปนานนนน.....ร่วม 2 ปีกว่า   เนื่องจากขยับไปทำธุรกิจ เพิ่มเติม ด้านงานวิศวกรรมโยธา  เรียกหรูนิดนึง ^^  แต่พูดภาษาบ้าน ๆ ได้ใจความเลย ก็คือ งานรับเหมาก่อสร้าง กับงานขายวัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นงานสายตรงที่จบมาตามหลักสูตรที่เรียนมา  หากท่านใดต้องการสร้างตึกสร้างอาคาร หรือมีความสนใจก็ไปแวะเยี่ยมชม กันได้
ที่


          มาเข้าเรื่องกันดีกว่า   ณ. ปัจจุบันนี้  พอเริ่มมีเวลาว่างจากงานวิศวกรรม ที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว  ก็รู้สึกอยากจะทำอะไร ๆ ที่เคยเริ่มทำไว้  ก็คือ การมาดูแล Blog นี้  อัพเดทข้อมูลข่าว และสาระที่เป็นประโยชน์ ให้กับทุกท่าน  หวังว่าคงจะได้รับการต้อนรับกันด้วยดีเช่นเคย จากทุก ๆ ท่านครับ 

           เริ่มเคาะสนิมกันก่อน วันนี้เก็บข่าวที่เป็นประโยชน์มาฝาก  จากหน้าข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์  "หลังสู้ฟ้า  หน้าสู้ดิน" ของนามปากกา คุณ "ชมชื่น  ชูช่อ"   เห็นว่าเป็นประโยชน์ดี  กับเพื่อนเกษตรกร ที่รู้จักใช้ธรรมชาติ มาจัดการกับการผลิตพืชในสวนเกษตรของตนเอง  นับเป็นตัวอย่างที่ดี ตัวอย่างหนึ่งครับ  ซึ่งไม่ว่าเราจะทำอะไร สาขาใด จะเกษตร หรือ อุตสาหกรรม  ถ้าเรารู้จักใช้ประโยชน์จากพื้นที่,สภาพแวดล้อมและธรรมชาติ (ดิน,น้ำ,ลม,ฤดูกาล)แล้ว เป้าหมายเราที่วางไว้ ก็จะง่ายเข้า เหมือนมีธรรมชาติคอยหนุนหลัง  ดังบทความนี้ครับ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา

หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน  โดย ชมชื่น ชูช่อ 2 ธ.ค. 2557 05:01

ไปดูงานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการคุณภาพทุเรียน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ของ คุณฉัตรกมล มุ่งพยาบาล เกษตรกรดีเด่น ผู้มีดีกรีจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แต่หันมายึดอาชีพเกษตรเป็นชาวสวนผลไม้ แน่นอนผลงานที่ออกมาย่อมไม่ธรรมดา
ยิ่งเห็นวิธีคิด วิธีจัดการสวน ยิ่งอึ้งไปกันใหญ่ เพราะไม่ได้ใช้วิธีการวิเศษพิสดารอะไรเลย แค่เอาหลักการพลังธรรมชาติ เรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก มาช่วยลดทุนเพิ่มเงินเข้ากระเป๋าได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ด้วยสวนทุเรียนของ คุณฉัตรกมล ตั้งอยู่ในพื้นที่ลาดชัน เป็นเนินสูง ด้านปลายเนินด้านที่ต่ำอยู่ติดกับลำห้วยและสระน้ำที่ขุดไว้...อย่างที่เรา รู้กัน การทำเกษตรบนพื้นที่ไหนๆ เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ย แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ลาดชัน ใส่ปุ๋ยไป เรารดน้ำ ฝนตกลงมา น้ำจะพัดพาปุ๋ยลงสู่ที่ราบต่ำหมด
เพื่อให้การใช้ปุ๋ยได้เต็มประสิทธิภาพ คุณฉัตรกมลใช้วิธีใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้เฉพาะที่อยู่บนเนินเป็นหลัก จากนั้นให้ธรรมชาติช่วยกระจายปุ๋ยให้แทน เรารดน้ำ ฝนตกมา ถึงปุ๋ยไหลไป ต้นไม้ที่อยู่ด้านล่างก็ยังได้ ประโยชน์ ไม่ต้องกลัวปุ๋ยจะไหลหายสูญเปล่า เลยช่วยประหยัดค่าปุ๋ยไปอีกทาง
และเพื่อให้การใช้ที่ดินเป็นไปตามศักยภาพของพื้นที่ เนินด้านบนปลูกไม้ผล ทุเรียน ส้ม....ที่ราบติดชายน้ำด้านล่าง ปลูกพืชชอบซดน้ำ ปาล์มน้ำมัน
ทุเรียน ส้ม เป็นไม้ผลทำเงินสร้างรายได้ปีละครั้ง...ปาล์มน้ำมันริมชายน้ำ สร้างรายได้รายเดือน
และเพื่อให้มีรายได้ไว้กินใช้รายวัน...ปลูกไผ่ขายหน่อ
เป็นอีกต้นแบบที่พี่น้องเกษตรกรทั้งหลาย ควรจะนำไปเป็นแบบอย่างในการคิดทำ คิดบริหารการจัดแปลงที่ดินทำกินของตัวเอง
ที่ดินที่ใครๆว่า ไม่ดี ทำกินไม่ได้ผล แต่ถ้ารู้จักคิด รู้จักนำสิ่งที่มีอยู่ มาใช้ประโยชน์ให้ตรงกับความเป็นไปของธรรมชาติ เรื่องยากๆ พลันกลายเป็นเรื่องง่ายได้...ขอเพียงรู้จักคิด และคิดให้เป็นเท่านั้น
อย่าไปเชื่อที่เขาว่ามาให้มากนัก...เพราะเขาที่ว่า ยังเอาตัวไม่รอดเลย แล้วจะไปเชื่อได้ยังไง.
ชมชื่น ชูช่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น