วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

สารกำจัดวัชพืช(ยาฆ่าหญ้า) ตอนที่ 1

เริ่มกันตอนแรกนะครับ  กับ "ยาฆ่าหญ้า" สารเคมีที่เพื่อนเกษตรกรนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่เหนือจรดใต้  เพราะด้านประโยชน์ของมันก็ คือ ความสะดวก ต้นทุนต่ำ ประหยัดแรงงาน  ส่วนด้านที่เป็นโทษ ก็คือ .... ตกค้าง ถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ เป็นพิษสะสม ...  บอกตามตรง นายยักษ์เขียว ไม่เห็นด้วยนักกับ การใช้สารกำจัดวัชพืช หรือ ยาฆ่าหญ้า นัก  หรือหากมีทางเลือก ก็ควรใช้วิธีกล หรือ สารอินทรีย์ ที่ไม่ตกค้างได้ก็จะดีมาก  แต่ทำอย่างไรได้ เพราะในปัจจุบัน แรงงานภาคการเกษตร หายากเสียเหลือเกิน.....

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำ ชื่อสารเคมี(ชื่อสามัญ) ชนิดต่างๆ  มาเผยแพร่ให้เกษตรกร,ผู้สนใจ,ฯลฯ ได้รู้ถึงประโยชน์, อันตราย, และความเป็นพิษเพื่อจะได้เลือกใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง(ในกรณีที่จำเป็น) มิได้ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้อ่านใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เพียงแต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี  ก็ควรใช้อย่างรู้คุณและโทษของมันอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรและผู้ใช้เองต้องตกเป็นเหยื่อของพิษ ภัยจากการใช้สารเคมีโดยมิได้รู้แจ้ง ซึ่ง ทางผู้โพสหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย  สำหรับท่านที่มีเพื่อน,มิตร,ญาติสนิท,ฯลฯ ที่ทำเกษตร หรือเกี่ยวข้องทางด้านนี้อยู่ ก็รบกวนช่วยนำไปเผยแพร่นะครับ ผมเองได้ข้อมูลมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำการเกษตรอยู่ จาก หนังสือ "สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย"  เป็นหนังสือที่หาค่อนข้างยาก ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์อีกหรือไม่ แต่ข้อมูลก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรักต้นไม้,เกษตรกร,หรือคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบกัน
 (นายยักษ์เขียว)


ทู โฟ - ดี
(2,4-D)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืช  phenoxy  ประเภทดูดซึม  ออกฤทธิ์กำจัดวัชพืชใบกว้างภายหลังงอกทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (oral  LD  50)  375  มก./กก.  ทางผิวหนังมากกว่า  1,600  มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้         ผักปอด  ผักตบชวา  ตาลปัตรยายชี  พังพวย  ผักบุ้ง  ผักโขม  โทงเทง  ผักเบี้ยหมู  ผักเบี้ยหิน  หญ้ายาง  ต้นไม้กวาด  กก  กกขนาก  แห้วหมู  เทียนนา  โสน  สะอึก  และวัชพืชใบกว้างอื่น ๆ
พืชที่ใช้                   ใช้กำจัดวัชพืชในนาข้าว  ไร่ข้าวโพด  ข้าวฟ่าง  อ้อย  หน่อไม้ฝรั่ง  สตรอเบอร์รี่  สนามหญ้าและบริเวณที่ไม่ได้ทำการเกษตร
สูตรผสม                  2,4-ดี  มีสูตรผสมหลายอย่าง  คือ
                             - ชนิด  sodium  และ  ammonium  salts  ปกติจะอยู่ในรูปผงละลายน้ำ  (WP)  มีความเข้มข้น  80-95%
                             - ชนิด  amine  salts  มีความเข้มข้น  72อีซี
                             - ชนิด  highly  volatile  esters  (Methyl , Ethyl , Butyl , Isopropyl)  มีความเข้มข้น  72อีซี
                             - ชนิด  Low  volatile  esters  (Butoxy  ethanol , propylene  glycol , Butoxy  propyl)
อัตราใช้และวิธีใช้        2,4-ดี  Na  Salt  ใช้อัตรา  30-40  กรัม  ผสมกับน้ำ  20  ลิตร  ชนิด  amine  salt  และ  high  volatile  esters  ใช้อัตรา  30-60  ซีซี  ผสมกับน้ำ  20  ลิตร  ฉีดพ่นที่ใบวัชพืชให้ทั่วบริเวณที่ต้องการกำจัดวัชพืช  ควรศึกษารายละเอียดจากฉลากเพิ่มเติมก่อนใช้
อาการเกิดพิษ            ผู้ได้รับพิษจะมีอาการ  ปวดศีรษะ  เหงื่อออกมาก  อ่อนเพลีย  คลื่นไส้  อาเจียน  ปวดท้อง  ท้องเสีย  เบื่ออาหาร  ตาพร่า  พูดไม่ชัด  น้ำลายออกมาก  กล้ามเนื้อกระตุก  ปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งกระตุ้นต่ำ  กลั้นปัสสาวะไม่อยู่  กล้ามเนื้อเปลี้ย  ต่อมาอาจชัก  หมดสติและตายเนื่องจากหัวใจและระบบเลือดล้มเหลว
การแก้พิษ                ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่จำนวนมาก ๆ  ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ  ถ้าเข้าปากหรือมีอาการเกิดพิษรุนแรงให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์  สำหรับแพทย์  รักษาตามอาการ  ให้คนไข้กินถ่านยาแอ็คติเวทเต็ด  ซาร์โคล  แล้วล้างท้องด้วย  ไอโซโทนิค  ซาลีน  หรือ  โซเดียม  ไบคาร์โบเนท  5%  ควบคุมการเต้นของหัวใจ
ข้อควรรู้                    - ห้ามใช้กับฝ้าย  มะเขือเทศ  องุ่น  ไม้ผลและไม้ประดับ
                             - อย่าฉีดพ่นใกล้ต้นพืชที่ปลูก
                             - ในดินที่มี  2,4-ดี  มากเกินไป  จะทำให้เมล็ดหยุดงอกและหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราว
                             - ก่อนที่จะใช้เครื่องมือฉีดพ่น  2,4-ดี  ไปใช้ฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชอย่างอื่น  ควรล้างทำความสะอาดอย่างละเอียดก่อนนำไปใช้
                             - ใช้ผสมฉีดพ่นร่วมกับปุ๋ยได้

อะเซ็ทโตคลอร์
(acetochlor)
การออกฤทธิ์             เป็นสาร  acetoalinide  ที่ใช้กำจัดวัชพืชก่อนงอก  (pre  emergence)  และเจาะจงพืช  (selective)
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  2,953  มก./กก.  อาจทำให้ดวงตาเกิดอาการระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้         หญ้าและวัชพืชใบแคบเกือบทุกชนิด
พืชที่ใช้                   ข้าวโพด  ถั่วเหลือง  ถั่วลิสง  และข้าวฟ่าง
สูตรผสม                  50อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้        ตามคำแนะนำบนฉลาก  สามารถใช้กำจัดวัชพืชก่อนงอก  คลุกดินก่อนปลูกหรือกำจัดวัชพืชเริ่มงอกก็ได้
ข้อควรรู้                    - ส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมเข้าทางหน่อที่เริ่มงอก
                             - ออกฤทธิ์ได้ดีกับดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูง
                             - ประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชอยู่ได้นาน  8-12  สัปดาห์
                             - ผสมใช้ร่วมกับสารกำจัดวัชพืชอื่น ๆ  หรือปุ๋ยน้ำได้

อะซิฟลูออร์เฟน โซเดียม
(acifluorfen – sodium)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืช  diphenyl  ether  ประเภทเจาะจงพืช  ใช้กำจัดวัชพืชได้ทั้งก่อนงอก  และภายหลังงอก
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  1,370  มก./กก.  ทางผิวหนัง  มากกว่า  2,000  มก./กก.  ทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้         วัชพืชใบกว้างและหญ้าบางชนิด
พืชที่ใช้                   ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ถั่วลิสง  ถั่วเหลือง  ฝ้าย  มะเขือเทศ  ในนาข้าวและข้าวสาลี
สูตรผสม                  21.4เอสแอล
อัตราใช้และวิธีใช้        ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ                ยาแก้พิษโดยเฉพาะยังไม่เป็นที่ทราบกัน  รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้                    - แสงแดดจัดจะช่วยให้สารเคมีนี้มีฤทธิ์เพิ่มขึ้น
                             - ห้ามผสมกับน้ำมัน  surfactant  ปุ๋ยน้ำและสารกำจัดศัตรูพืชอย่างอื่น
                             - ประสิทธิภาพจะลดลง  ถ้าฝนตกภายหลังจากใช้  6  ชั่วโมง
                             - ใช้กำจัดวัชพืชภายหลังงอกจะให้ผลดีมากกว่า
                             - กำจัดวัชพืชใบกว้างได้ดีกว่าหญ้าหรือวัชพืชใบแคบ
                             - ใช้กับพืชที่แนะนำได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
                             - วัชพืชจะตายภายใน  3-5  วันภายหลังจากใช้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น