วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

สารป้องกันและกำจัดโรคพืช ตอนที่ 12

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำชื่อสารเคมี(ชื่อสามัญ) ชนิดต่างๆ  มาเผยแพร่ให้เกษตรกร,ผู้สนใจ,ฯลฯ ได้รู้ถึงประโยชน์, อันตราย, และความเป็นพิษเพื่อจะได้เลือกใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง(ในกรณีที่จำเป็น) มิได้ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้อ่านใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เพียงแต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี  ก็ควรใช้อย่างรู้คุณและโทษของมันอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรและผู้ใช้เองต้องตกเป็นเหยื่อของพิษ ภัยจากการใช้สารเคมีโดยมิได้รู้แจ้ง ซึ่ง ทางผู้โพสหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย  สำหรับท่านที่มีเพื่อน,มิตร,ญาติสนิท,ฯลฯ ที่ทำเกษตร หรือเกี่ยวข้องทางด้านนี้อยู่ ก็รบกวนช่วยนำไปเผยแพร่นะครับ ผมเองได้ข้อมูลมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำการเกษตรอยู่ จาก หนังสือ "สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย"  เป็นหนังสือที่หาค่อนข้างยาก ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์อีกหรือไม่ แต่ข้อมูลก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรักต้นไม้,เกษตรกร,หรือคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบกัน
 (นายยักษ์เขียว)


ไอโปรไดโอน
(iprodione)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดเชื้อรา  dicarboximide  ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส  ให้ผลดี  ทั้งในทางป้องกัน  และรักษาโรคพืช  โดยการไปยับยั้งการขยายพันธุ์และการเจริญเติบโตของเชื้อรา
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  3,500  มก./กก.  ทางผิวหนัง  มากกว่า  1,000  มก./กก.  ทำให้ดวงตาและผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้        โรคกาบใบแห้ง  ที่เกิดจากเชื้อ  Thanatephorus  cucumeris  โรคใบติดที่เกิดจากเชื้อ  Rhizoctonia  solani  โรคใบจุดสีม่วง  ที่เกิดจากเชื้อ  Alternaria  porri  และ  โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อ  A.solani  และ A.brassicola  โรคเน่า  (Botrytis  cinerea)  และโรคที่เกิดจากเชื้อ  Aspergillus  spp. , Rhizoctonia  spp. , Sclerotium  spp.
พืชที่ใช้                   ทุเรียน  ข้าว  กระเทียม  หอมใหญ่  หอมแดง  ผักกาดเขียว  ผักกาดขาว  มะเขือเทศ  องุ่น  มันฝรั่ง  ถั่วลันเตา  ถั่วเขียว  ถั่วลิสง  แอสพารากัส  และ  สตรอเบอร์รี่
สูตรผสม                  50ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้        ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก  ฉีดพ่นให้ทั่วเมื่อตรวจพบว่ามีโรคพืชเกิดขึ้น  ใช้ซ้ำทุก  3  อาทิตย์  ตามความจำเป็น  หรืออาจใช้ภายหลังการเก็บเกี่ยว  โดยการจุ่มหรือคลุกเมล็ดเพื่อป้องกันโรคพืช
อาการเกิดพิษ            ผู้ได้รับพิษทางปากอาจมีอาการอ่อนเพลีย  หายใจขัด
การแก้พิษ                ถ้าถูกผิวหนัง  ให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่จำนวนมาก ๆ  ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง  ถ้าเข้าปากหรือกลืนกินเข้าไป  ให้ผู้ป่วยบ้วนปากแล้วไปพบแพทย์ทันที  สำหรับแพทย์  ให้ล้างท้องคนไข้  แล้วรักษาตามอาการ
ข้อควรรู้                    - ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว  14  วัน
                             - เป็นพิษต่อปลา
                             - อย่าเก็บน้ำยาที่ผสมแล้วไว้นานเกินกว่า  12  ชั่วโมง
                             - ผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ ได้

ไอโสโปรธิโอเลน
(isoprothiolane)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดเชื้อรา  dithiolane  ประเภทดูดซึม
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  1,190  มก./กก.  ทางผิวหนัง  มากกว่า  10,250  มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้        โรคใบไหม้ของข้าวที่เกิดจากเชื้อ  Pyricularia  oryzae  โรคลำต้นเน่า  และโรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อ  Fusarium  spp.
พืชที่ใช้                   ข้าว
สูตรผสม                  40อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้        ใช้  40  ซีซี  ผสมกับน้ำ  20  ลิตร  ฉีดพ่นต้นข้าวที่เป็นโรคก่อนปักดำหรือในขณะที่มีโรคระบาด
อาการเกิดพิษ            ผู้ได้รับพิษจะมีอาการอ่อนเพลีย  คลื่นไส้  เวียนศีรษะ  น้ำลายฟูมปาก  หายใจไม่สะดวก  ทำให้ดวงตาระคายเคือง
การแก้พิษ                ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยสบู่กับน้ำจำนวนมาก ๆ  ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง  ถ้าเข้าปาก  อย่าทำให้คนไข้อาเจียน  รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์  สำหรับแพทย์  ล้างท้องคนไข้  แล้วให้กินถ่านยาแอ๊คติเวทเต็ด  ซาร์โคล  และยาถ่ายพวกเกลือซัลเฟท  รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้                    - ช่วยลดจำนวนแมลงในนาข้าวได้
                             - เคลื่อนย้ายในต้นข้าวได้ทั้งทางรากและทางใบ

คาซูกะมัยซิน
(kasugamycin)
การออกฤทธิ์             เป็นสารปฏิชีวนะกำจัดเชื้อรา  ประเภทดูดซึมทางใบ  ให้ผลในทางป้องกันและรักษาโรคพืช
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  22,000  มก./กก.  ทางผิวหนัง  มากกว่า  4,000  มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้        โรคใบไหม้ที่เกิดจากเชื้อ  Piricularia  oryzae  โรคแอนแทรคโนส  โรครากำมะหยี่สีเขียว  โรคสแคป  และโรคที่เกิดจากเชื้อ  Septoria  spp.
พืชที่ใช้                   ข้าว  มะเขือเทศ  พืชตระกูลแตง  ถั่ว  คื่นฉ่ายและพืชอื่น ๆ
สูตรผสม                  2ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้        ในกรณีคลุกเมล็ดใช้อัตรา  3  กรัม  ต่อเมล็ดพันธุ์  1  กก.  ถ้าฉีดพ่นใช้อัตรา  30-40  กรัม  ผสมกับน้ำ  20  ลิตร  กวนให้เข้ากันดี  แล้วฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่  เมื่อตรวจพบว่ามีโรคระบาด  ใช้ซ้ำได้ทุก  7-10  วัน
อาการเกิดพิษ            ถ้ากลืนกินเข้าไปปริมาณมาก ๆ  จะทำให้รู้สึกไม่สบาย
การแก้พิษ                ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ  รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้                    - ค่อนข้างเป็นพิษต่อผึ้ง
                             - เป็นสารกำจัดโรคข้าวที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย
                             - ใช้คลุกเมล็ดข้าว  จะป้องกันโรคบลาส  (Blast)  ได้  ประมาณ  1  เดือน

แมนโคเซ็บ
(mancozeb)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดเชื้อรา  dithiocarbamate  ที่ออกฤทธิ์ในทางป้องกันโรคพืช  มีความคงตัวมาก
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  มากกว่า  8,000  มก./กก.  ทางผิวหนัง  (หนู)  มากกว่า  10,000  มก./กก.  อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้        โรคแอนแทรคโนส  โรคไฟท๊อฟโตรา  (Phytophthora)  โรคสแคป  (Scab)  โรคราน้ำค้าง  โรคเน่าดำ  โรคเน่าสีน้ำตาล  (Brown  rot)  โรค  Cercospora  และ  Septora  leaf  spot  โรค  early  และ  Late  blight  โรค  Alternaria  leaf  spot  โรค  Botrytis  leaf  blight  โรค  Rhizoctonia  brown  spot  โรคราสนิม  (Rust)  และ  Pythium  blight
พืชที่ใช้                   กล้วย  องุ่น  มันฝรั่ง  มะละกอ  ข้าวสาลี  ฝ้าย  ถั่วเหลือง  ข้าว  มะเขือเทศ  แตงกวา  แตงอื่น ๆ  หอม  แครอท  คื่นฉ่าย  ข้าวโพด  หน่อไม้ฝรั่ง  ข้าวฟ่าง  พืชไร่ทั่วไป  พืชสวน  ผักต่าง ๆ  และไม้ประดับ
สูตรผสม                  50และ  80ดับบลิวพี  32เอฟ
อัตราใช้และวิธีใช้        ใช้อัตรา  40  กรัม  ผสมกับน้ำ  20  ลิตร  ฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืชเมื่อโรคพืชเริ่มระบาด  และพ่นซ้ำทุก  7-10  วัน  ใช้เป็นสารคลุกเมล็ดได้ด้วย
อาการเกิดพิษ            ละอองยาอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่เยื่อบุจมูก  ลำคอ  ผิวหนัง  ทำให้อักเสบ  คัน  หรือไอ  ถ้ากลืนกินเข้าไปจะปวดศีรษะ  คลื่นไส้  อาเจียน  และเกิดผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง
การแก้พิษ                ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ  ถ้ากลืนกินเข้าไป  ต้องรีบทำให้คนไข้อาเจียนด้วยการล้วงคอ  หรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น  สำหรับแพทย์  ทำให้คนไข้อาเจียนหรือล้างท้อง  แล้วถ่ายท้องด้วยยาโซเดียมซัลเฟท  หรือ  แม๊กนีเซียมซัลเฟท  ห้ามให้ยาหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  ไขมัน  และน้ำมัน  ผสมอยู่  รักษาคนไข้ตามอาการที่ปรากฏ
ข้อควรรู้                    - ระยะเวลาก่อนการเก็บเกี่ยว  7-21  วัน
                             - เป็นพิษต่อปลา
                             - ในระหว่างเก็บอย่าปล่อยให้เปียกชื้น
                             - ใช้ผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ ได้
                             - ให้ผลดีที่สุดเมื่อใช้ป้องกันโรคพืช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น