วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การป้องกันพิษตกค้างและผลข้างเคียงของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช


        หลายคนคงเคยทราบถึงเรื่องภัยของยาฆ่าแมลงกับชีวิตประจำวันของเรา อย่างไรก็ดี บางคนก็อาจลืมไปแล้วหรือไม่ได้ใส่ใจนัก วันนี้นายยักษ์เขียว เลยเก็บตกบทความดี ๆ มาเพื่อเตือนความจำกัน  ทั้งกับเกษตรกรกลุ่มที่ใช้กันอยู่เป็นประจำ  รวมถึงท่านที่ซื้อหาผักและผลไม้มาทานกันเป็นประจำ และท่านที่ใช้อยู่ในบ้านเรือนแต่ไม่รู้หรือไม่ได้สังเกตอย่างพวกยาฉีด ยุง,ฉีดปลวก เพราะของพวกนี้มันสะสมเหมือนเหรียญในกระปุกออมสินครับ ใครเจอเยอะ ใช้เยอะ ก็มีในร่างกายเยอะ แต่ไม่ต้องวิตกมากไปนะครับ เพราะธรรมชาติของร่างกายเราสามารถขับสารที่เป็นพิษพวกนี้ออกมาได้ เพียงแต่อย่ารับมามากเกินขีดจำกัดของร่างกายเราละกัน  แค่ขอสะกิดให้ระวังไว้ครับ ถ้าจำเป็นต้องยุ่งด้วยหรือใช้เป็นประจำก็ให้สวมถุงมือ,ผ้าปิดปากหรืออุปกรณ์ ป้องกันให้เหมาะสม อย่าตัวเปล่าเล่าเปลือยแล้วคิดว่าตัวเองแข็งแรง แค่นี้ไม่ตายนะครับ  เพราะคนรุ่นคุณอาคุณปู่หลายคนที่ผมรู้จักคลุกคลี ต่างต้องโบกมือลาอาชีพก่อนกำหนดทั้งนั้น ไม่ถึงตายครับ แต่แค่ต้องไปฟอกไตอาทิตย์ละสองวัน ....Smiley

       เนื่องจากการเพิ่มประชากรเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงมีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าช่วยในการผลิตอาหารให้เพียงพอแก่การบริโภค เช่น มีการนำสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าช่วยในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต เป็นเหตุให้เกิดปัญหาตามมามากมายที่สำคัญคือ ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน เพราะสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต หากใช้เกินความจำเป็นหรือขาดความระมัดระวังในการใช้แล้ว จะทำให้สารตกค้างหลงเหลืออยู่ในอาหารและสิ่งแวดล้อมได้ และอาหารที่มักตรวจพบว่ามีสารเคมีตกค้าง เช่น ผักสด ผลไม้สดและปลาแห้ง เป็นต้น   

ยาฆ่าแมลงที่ใช้มี 7 จำพวกได้แก่
     1. ยาฆ่าแมลงจำพวกสารอนินทรีย์ (inorganic insecticide) ได้แก่ สารจำพวกสารหนู กำมะถันผง และคอปเปอร์ซัลเฟต (Copper sulphate) สาร หนูเป็นยาฆ่าแมลงที่ใช้กันมานานแล้ว นิยมใช้ในการป้องกันกำจัดแมลง ประเภทปากกัดกิน เช่น แมลงสาบ ปลวก ตั๊กแตน เพลี้ยและตัวหนอนผีเสื้อ กินพืชบางชนิด ถึงแม้ว่าจะมีอันตรายน้อยต่อแมลงที่มีประโยชน์ แต่มีพิษ ต่อคนและสัตว์มาก สลายตัวได้ยากและมีพิษต่อพืชสูง
     พิษที่เกิดกับคน      การหายใจเข้าไปก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกของทางเดินหายใจ การสัมผัสทางผิวหนังก่อให้เกิดการระคายเคือง  สารดูดซึมอย่างรวดเร็วทำลายผิวหนังหรือเป็นแผลไหม้  มีอาการเช่นเดียวกับการหายใจและกลืนกินเข้าไป  ในผู้ใหญ่ถ้ากินสารนี้เข้าไปมากกว่า 30 กรัมอาจทำให้ตายได้  การสัมผัสถูกตาก่อให้เกิดการระคายเคือง  ตาแดง  ปวดตา  การได้รับสารติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้น้ำหนักลด  อาเจียน  ท้องร่วง  เป็นผื่นแดงบนผิวหนัง  ชักกระตุกอย่างรุนแรง

    2. ยาฆ่าแมลงจำพวกสกัดมาจากพืช (botanical insecticide) ได้แก่ ยาฉุน ได้จากใบยาสูบ โล่ติ้นได้จากรากของต้นหางไหล (Derris elliptica) และไพรีทรินส์ได้จากดอกต้นไพริทรัม (Chrysanthemum cineraiaefolium) ยา ฆ่าแมลงจำพวกนี้โดยเฉพาะไพรีทรินส์นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยผสมกับยาฆ่าแมลงอื่นๆ บรรจุในกระป๋องสเปรย์ ฆ่ายุง มีพิษต่อระบบ หายใจของแมลง แมลงจะมีอาการขาดออกซิเจนและเป็นอัมพาตตายในที่สุด มีพิษต่อคนและสัตว์เลือดอุ่นน้อยมาก สลายตัวได้รวดเร็ว จึงไม่มีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม
     พิษที่เกิดกับคน ก่อให้เกิดการระคายเคืองทางตาและผิวหนัง  ที่ผิวหนังอาจเกิดอาการแพ้ซึ่งเมื่อถูกสารในปริมาณน้อยก็อาจทำให้คันและเป็นผื่นแดงได้  เป็นอันตรายเมื่อกลืนกิน  และเป็นอันตรายเมื่อสูดดมอาจก่อให้เกิดการแพ้  อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่แผ่นเยื่อเมือกและบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน  ถ้าสูดดมเข้าไปมากจะทำให้คลื่นไส้  ตัวสั่น  หงุดหงิดง่าย  เป็นลม  หมดสติ  ในระยะยาวอาจทำลายตับและไต 

     3. ยาฆ่าแมลงจำพวกคลอริเนตเตทไฮโดรคาร์บอน (chlorinated hydrocabon) หรือยาจำพวกออร์กาโนคลอรีน (organochlorine) ได้แก่ ดีดีที เคลเธน คลอเดน อัลดริน ดรีลดริน ฯลฯ ใช้กำจัดแมลงได้อย่างกว้างขวาง มีพิษคงทนอยู่ในธรรมชาติได้นาน จึงมีปัญหาสารพิษตกค้างในอาหาร และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมาก
     พิษที่เกิดกับคน มีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง รู้สึกไม่ปกติ กระวนกระวาย ลิ้นชา ปวดศีรษะ การทรงตัว การพูดผิดปกติ บางครั้งชักเกร็งปวดประสาทและระบบหายใจไม่ปกติ อาจเกิดอาการเบื่ออาหาร ผอม หน้าซีด เป็นโรคโลหิตจาง ตับไตเปลี่ยนแปลง และเกิดภาพหลอน อาจตายด้วยระบบหายใจล้มเหลว

     4. ยาฆ่าแมลงจำพวกออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphates) ได้แก่ พาราไธออนหรือโพลิดอล       ซูมิไธออน มาลาไทออน กูซาไทออน เมวินฟอส ไดอะซิโนน ไดซีสตอน ฯลฯ มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าแมลงและ สลายตัวได้รวดเร็วหลังการใช้จึงใช้ได้ดีในพืชผัก โดยการพ่นก่อน เก็บเกี่ยวในระยะเวลาสั้นๆ บางชนิดมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลงประเภทดูดซึม จึงใช้ได้ดีในการปราบแมลงปากดูด จำพวกเพลี้ย และมวน และแมลงที่กัดกินอยู่ภายในลำต้น เช่น หนอนเจาะลำต้น
     พิษที่เกิดกับคน ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อมๆ แน่นหน้าอก ท้องเดิน ตาพร่า ลิ้นกระตุก เหงื่อและน้ำตาไหล น้ำลายฟูมปาก อุจจาระปัสสาวะราด ชัก หายใจลำบาก อาจหมดสติได้ การเดินของหัวใจผิดปกติ

     5. ยาฆ่าแมลงจำพวกคาร์บาเมต (carbamates) ได้แก่ คาร์บาริล หรือเซฟวิน เทมิค และฟูราดาน เป็นยาฆ่าแมลงที่ค่อนข้างใหม่กว่ายาฆ่าแมลง จำพวกคลอริเนตเตทไฮโดรคาร์บอน และออร์กาโนฟอสเฟต มีพิษต่อ มนุษย์และสัตว์เลือดอุ่นน้อยมาก ยกเว้นยาเทมิค สลายตัวได้รวดเร็ว ไม่ ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม แต่มีราคาค่อนข้างแพง
     พิษที่เกิดกับคน ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนมึนงง ปวดศีรษะ อิดโรยและอ่อนเพลียแน่นหน้าอก ตามัว ม่านตาดำเล็กผิดปกติ ปวดเบ้าตา กระวนกระวาย ม่านตาชา คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกทำงานผิดปกติเป็นตระคริวที่ท้อง ท้องร่วง และน้ำลายมาก หายใจลำบาก ชักและสลบ ชีพจรเต้นเร็ว อาจตายเนื่องจากหายใจติดขัดและอื่นๆ

     6. ยาฆ่าแมลงจำพวกสารที่เป็นเชื้อโรคของแมลง (insect pathogens) ได้แก่ ทูริไซด์และอาร์โกนา ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียและไวรอนเอช ผลิตจากไวรัส โดยที่เชื้อโรคของแมลงเหล่านี้รวมทั้งไส้เดือนฝอย สัตว์เซลล์เดียว และเชื้อรา จะทำให้แมลงเกิดเป็นโรคและตายในที่สุด นิยมใช้กันมากในต่าง ประเทศ เช่น ใช้เชื้อแบคทีเรียชนิด Bacillus thuringiensis ในการปราบหนอนคืบผักกาด ข้อดีของยาฆ่าแมลงจำพวกนี้คือ จะมีอันตรายเฉพาะเจาะจงต่อศัตรูพืชแต่ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์อื่นๆ
     พิษที่เกิดกับคน ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังและตาอาการปวดศีรษะคลื่นไส้เนื่องจากมีความเป็นพิษน้อย             

     7. ยาฆ่าแมลงจำพวกฮอร์โมนและฟีโรโมน (hormones and pheromones) ยา ฆ่าแมลงจำพวกนี้นับว่าค่อนข้างใหม่มาก และกำลังศึกษา ค้นคว้ากันอยู่ จากการที่ใช้ฮอร์โมนเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบการเจริญเติบโต และระบบการสืบพันธุ์ของแมลง เช่น ใช้จูเวไนล์ ฮอร์โมน (juvanile hormone) กับ ลูกน้ำยุง ทำให้ลูกน้ำยุงไม่เติบโตเป็นยุงตัวเต็มวัย ไม่เกิดการผสมพันธุ์ขึ้น ส่วนเฟอโรโมนนั้น ใช้ในการดึงดูดให้แมลงมารวมกันมากๆ ในจุดที่ต้องการ แล้วทำลายแมลงเหล่านั้นโดยเร็ว หรือการใช้เฟอโรโมนเทียมทำให้แมลง สับสนและหาคู่ผสมพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้ ในที่สุดปริมาณจะลดลงหรือ สูญพันธุ์ไป

     จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีอันตรายต่อสุขภาพมาก ทำอย่างไรจึงจะกำจัดหรือลดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ตกค้าง และเหลือในผักและผลไม้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงมีคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ดังนี้
1.       ล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เพื่อชะล้างสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่บนผิวของผักและผลไม้ให้หมดไป หรือ
2.       แช่ผักและผลไม้ในน้ำยาล้างผัก แล้วล้างน้ำยาให้หมดด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
3.       ผักและผลไม้ที่ปอกเปลือกได้ ควรล้างด้วยน้ำให้สะอาดก่อนปอกเปลือก
4.       การต้มผักแล้ว เทน้ำทิ้งไปจะช่วยลดปริมาณยาฆ่าแมลงในผักลงได้บ้าง
5.       ถั่วแห้งทุกชนิด ก่อนนำมาใช้ปรุงอาหารควรล้างด้วยน้ำให้สะอาด ถ้าเป็นอาหารที่ต้องต้ม ควรทิ้งน้ำต้มครั้งแรก เพื่อให้ยาฆ่าแมลงที่ตกค้างอยู่บนผิวนอกของ เมล็ดถั่วหลุดไปได้มากที่สุด
6.       ก่อนฉีดหรือพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกครั้ง ควรถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ดังนี้
o        ใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น
o        การฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงหรือมดในห้องอาหาร ควรกระทำในขณะที่ไม่มีอาหารอยู่ในห้องนั้น
o        ถ้าต้องการกำจัดแมลงในครัว ควรดูแลปิดอาหารให้มิดชิด อย่าให้ละอองของสารเคมีเข้าไปปะปนในอาหารได้
o        ภาชนะบรรจุน้ำบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิดเช่นกัน
7.       ห้ามนำภาชนะที่เคยบรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มาใช้บรรจุอาหาร เครื่องดื่มหรือน้ำเป็นอันขาด
8.       ควรระลึกอยู่เสมอว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดเป็นวัตถุมีพิษ ต้องเก็บแยกไว้ในที่ปลอดภัย อย่าเก็บใกล้กับอาหารและเก็บในที่เฉพาะซึ่งเด็กหยิบไม่ถึง

     นอกจากผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการบริโภคแล้ว ผู้ปลูกก็ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ถูกชนิด ปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม ก่อนการเก็บเกี่ยวเมื่อนำไปจำหน่าย สำหรับผู้จำหน่ายก็ต้องไม่เติมสารเคมีอันตรายลงไปปนเปื้อนในอาหารที่จำหน่าย และเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัยมาจำหน่าย
     การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อประโยชน์ในงานประเภทใดก็ตาม ควรคำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยเปรียบเทียบประโยชน์และอันตรายที่จะได้รับภายหลัง เพราะสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางชนิดสลายตัวได้หมดภายหลังการใช้ แต่บางชนิดจะสลายตัวได้ยากหรือเกือบจะไม่สลายเลย คงเหลือสารตกค้างอยู่ในอาหารและสิ่งแวดล้อม เท่าที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ผลิตขึ้นจากสารเคมีและสลายตัวได้ยาก จึงจำเป็นต้องศึกษาพิษอันตรายที่จะเกิดขึ้นให้ดีและรู้จักหลีกเลี่ยงอันตราย เหล่านั้น โดยปฏิบัติตามคำแนะนำวิธีใช้ที่มีฉลากโดยเคร่งครัด การควบคุมใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างรัดกุม จะช่วยให้ได้รับประโยชน์เต็มที่และเกือบจะไม่มีอันตรายเหลืออยู่เลย

ที่มา foodsafetymobile.org

สำหรับข้อมูลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ ท่านสามารถคลิกเข้าไปอ่านและศึกษารายละเอียดก่อนการใช้งานได้ที่ กลุ่มบทความ "ข้อควรระวังในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร(ยาฆ่าแมลง)"
(ฝ่ายข้อมูลเกษตรฯ บริษัท ภควัตเพื่อนเกษตร จำกัด)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น