ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่กันด้วย บทเริ่มต้นของ"ข้อมูลสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืช" ครับ
เข้าสู่เทศกาลส่งท้ายปีกัน ระมัดระวังสุขภาพ ความปลอดภัย กันด้วยนะครับ ใครที่ดื่ม...ก็ดื่มแต่พอดี ระมัดระวังการเดินทาง แล้วอีกเรื่องที่อยากฝากกันก็คือ ใครที่ใจร้อน อารมณ์แรง ปีใหม่นี้ ก็ขอให้ผ่อนคลายกัน คิดแต่เรื่องความสุข ทิ้งความทุกข์ไว้เบื้องหลัง หมดเทศกาล แล้วมาเริ่มสู้กันใหม่ นายยักษ์เขียว ขอให้พบความสุข สดใส สมหวังกับปีกระต่ายทอง ครับ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำชื่อสารเคมี(ชื่อสามัญ) ชนิดต่างๆ
มาเผยแพร่ให้เกษตรกร,ผู้สนใจ,ฯลฯ ได้รู้ถึงประโยชน์, อันตราย, และความเป็นพิษ
เพื่อจะได้เลือกใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง(ในกรณีที่จำเป็น) มิได้ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้อ่านใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เพียงแต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ก็ควรใช้อย่างรู้คุณและโทษของมันอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรและผู้ใช้เองต้องตกเป็นเหยื่อของพิษภัยจากการใช้สารเคมีโดยมิได้รู้แจ้ง ซึ่ง ทางผู้โพสหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย สำหรับท่านที่มีเพื่อน,มิตร,ญาติสนิท,ฯลฯ ที่ทำเกษตร หรือเกี่ยวข้องทางด้านนี้อยู่ ก็รบกวนช่วยนำไปเผยแพร่นะครับ ผมเองได้ข้อมูลมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำการเกษตรอยู่ จาก หนังสือ "สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย" เป็นหนังสือที่หาค่อนข้างยาก ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์อีกหรือไม่ แต่ข้อมูลก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรักต้นไม้,เกษตรกร,หรือคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบกัน
(นายยักษ์เขียว)
อะนิลาซีน
(anilazine)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราที่มีสาร triazine เป็นองค์ประกอบ ออกฤทธิ์ให้ผลในทางป้องกันโรคพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 5,000 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรค blight ของมันฝรั่ง โรคแอนเทรคโนส โรคราน้ำค้าง โรค early blight โรค late blightและโรคที่เกิดจากเชื้อ Helminthosporium spp., Botrytis spp., Rhizoctonia spp., และ Septoria spp.
พืชที่ใช้ ยาสูบ สตรอเบอร์รี่ คื่นฉ่าย พืชตระกูลแตง หอม กระเทียม มันฝรั่ง ฟักทอง มะเขือเทศและแตงโม
สูตรผสม 50% และ 75% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ฉีดพ่นให้ทั่วต้นพืชและอย่างสม่ำเสมอ ใช้ซ้ำทุก 4-10 วัน ตามความจำเป็น
ข้อควรรู้ - เป็นพิษต่อปลา
- ไม่เข้ากับสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
- ผสมกับสารกำจัดแมลงและสารกำจัดเชื้อราอย่างอื่น ๆ ได้
บีนาแล๊กซิล
(benalaxyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา acylanilide ประเภทดูดซึม ให้ผลทั้งในด้านป้องกันรักษาและกำจัดโรคพืช ดูดซึมเข้าไปในต้นได้โดยผ่านทางใบและราก เป็นสารยับยั้งการงอกของสปอร์
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 4,200 มก./กก. ทางผิวหนัง (หนู) มากกว่า 5,000 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราน้ำค้าง โรคไฟท๊อพโตรา (Phytophthora) โรคราน้ำเงิน (Blue mold) โรค Late blight และโรคพืชอื่น ๆ
พืชที่ใช้ มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ องุ่น พริกไทยและผักกาดหอม
สูตรผสม 25% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช เมื่อพบเห็นว่ามีโรคพืชเกิดขึ้น
อาการเกิดพิษ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองดวงตา ผิวหนังและเยื่อบุช่องทางหายใจ ถ้าเข้าสู่ร่างกายจะเวียนศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย แขนขากระตุกและชัก
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ถ้าเข้าปาก ทำให้คนไข้อาเจียนด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น 1 แก้วแล้วนำส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ รักษาคนไข้ตามอาการ ห้ามมิให้คนไข้กินหรือดื่มอาหารที่มีไขมันและแอลกอฮอล์
ข้อควรรู้ - ผสมใช้ร่วมกับสารกำจัดเชื้อราอย่างอื่นได้
- อย่าผสมกับสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
- เป็นอันตรายต่อปลา
- ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 7 วัน
บีโนมิล
(benomyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา benzimidazole:MBC ประเภทดูดซึมโดยผ่านทางใบ และราก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 10,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 10,000 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคใบจุด โรคแอนแทรคโนส โรคราแป้ง โรคสะแคป โรคราดำ โรคใบไหม้ โรคกาบใบแห้ง โรคจุดสีน้ำตาล โรคกาบใบเน่า โรคเน่าคอดิน โรคซิกาโตก้า (Sigatoka) โรคเซอร์โคสปอร์รา
พืชที่ใช้ ถั่ว พริกไทย มะเขือเทศ ผักกาด ส้ม มะม่วง เงาะ ข้าว คื่นฉ่าย ผักชี กล้วย ฝ้าย หม่อน สตรอเบอร์รี่ อ้อย องุ่น กะหล่ำปลี แตง ฟักทอง สัปปะรด ไม้ผล ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี และ 50% โอดี
อัตราใช้และวิธีใช้ ชนิด 50% ดับบลิวพี กำจัดโรคพืช ใช้อัตรา 6-12 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ชนิดอื่นใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดี แล้วฉีดพ่นให้ทั่วใบพืชทั้งต้น เมื่อพบเห็นว่ามีโรคพืช ช่วงระยะใช้ควรห่างกัน 10-12 วันต่อครั้ง
อาการเกิดพิษ อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังและดวงตา จมูกและลำคอเมื่อสัมผัสถูก
การแก้พิษ ถ้ามีอาการของพิษเกิดขึ้นที่ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยกินเข้าไปและยังมีสติอยู่ ต้องทำให้อาเจียนหรือล้างท้องคนไข้ก่อน แล้วรักษาตามอาการ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้ - ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 7-28 วัน
- ในระหว่างเก็บ อย่าให้ผลิตภัณฑ์ถูกกับความชื้น
- อย่าผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่นที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
- เป็นพิษต่อปลา
- ให้ผลดีทั้งในด้านการป้องกันและกำจัดโรคพืชให้หมดไป
- ออกฤทธิ์กำจัดไข่ปลวกได้
- ผสมได้กับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น