บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำ ชื่อสารเคมี(ชื่อสามัญ) ชนิดต่างๆ มาเผยแพร่ให้เกษตรกร,ผู้สนใจ,ฯลฯ ได้รู้ถึงประโยชน์, อันตราย, และความเป็นพิษเพื่อจะได้เลือกใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง(ในกรณีที่จำเป็น) มิได้ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้อ่านใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เพียงแต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ก็ควรใช้อย่างรู้คุณและโทษของมันอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรและผู้ใช้เองต้องตกเป็นเหยื่อของพิษ ภัยจากการใช้สารเคมีโดยมิได้รู้แจ้ง ซึ่ง ทางผู้โพสหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย สำหรับท่านที่มีเพื่อน,มิตร,ญาติสนิท,ฯลฯ ที่ทำเกษตร หรือเกี่ยวข้องทางด้านนี้อยู่ ก็รบกวนช่วยนำไปเผยแพร่นะครับ ผมเองได้ข้อมูลมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำการเกษตรอยู่ จาก หนังสือ "สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย" เป็นหนังสือที่หาค่อนข้างยาก ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์อีกหรือไม่ แต่ข้อมูลก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรักต้นไม้,เกษตรกร,หรือคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบกัน
(นายยักษ์เขียว)
บิวตาคลอร์
(butachlor)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช acetamide ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งก่อนงอกโดยการคุมวัชพืชและภายหลังงอก ออกฤทธิ์ด้วยการเข้าไปยับยั้งขบวนการสังเคราะห์โปรตีน ภายในต้นพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 3,300 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 13,000 มก./กก. ทำให้ผิวหนังและดวงตาระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชได้ทั้งใบแคบและใบกว้าง รวมทั้งกกต่าง ๆ เช่น หญ้านกสีชมพู แห้วทรงกระเทียม ขาเขียด ผักปอดนา ผักแว่น พังพวย หญ้าหนวดปลาดุก กกทราย และกกขนาก
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในนาข้าว
สูตรผสม 60% อีซี และ 5% จี
อัตราใช้และวิธีใช้ ขนาด 60% อีซี ใช้อัตรา 250 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่ 1 ไร่ ชนิด 5% จี ใช้อัตรา 3.2 กก. หว่านให้ทั่วพื้นที่ 1 ไร่ ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากฉลากก่อนใช้ทุกครั้ง
อาการเกิดพิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังจะมีอาการระคายเคือง เช่นเดียวกับที่ดวงตาและที่จมูก
การแก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไป ต้องทำให้คนไข้อาเจียนแล้วกินถ่านยาแอ็คติเวทเต็ด ซาร์โคล พร้อมนำผู้ป่วยส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - เป็นพิษต่อปลา
- อย่าใช้ในสภาพอากาศที่คิดว่าจะมีฝนตก ภายใน 6 ชั่วโมง
- คงตัวอยู่ในดินได้นานประมาณ 10 สัปดาห์
- ผสมกับโปรพานิลได้เมื่อใช้ฉีดพ่นทันทีและกำจัดแบบภายหลังงอก
บูตราลิน
(butralin)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช dinitroanilide ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชทั้งก่อนงอกและหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 12,600 มก./กก. ทางผิวหนัง 10,200 มก./กก.
พืชที่ใช้ กำจัดวัชพืชในไร่ถั่วเหลืองและไร่ฝ้าย
สูตรผสม 24% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
บูทิลเลท
(butylate)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช thiocarbamate ประเภทเจาะจงพืช โดยใช้กำจัดวัชพืชก่อนปลูก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 4,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชใบแคบพวกหญ้าต่าง ๆ
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ข้าวโพด
สูตรผสม 7% อีซี , 5% และ 10% จี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก
ข้อควรรู้ - เป็นสารที่มีความใกล้เคียงกับสารกำจัดวัชพืช อีพีทีซี
- ให้ผลในการควบคุมวัชพืชได้นานประมาณ 6 สัปดาห์ และไม่มีผลกระทบต่อพืชที่จะปลูกต่อจากข้าวโพด
- เพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อาจใช้ร่วมกับอะทราซีนได้
คลอริมูรอน เอ็ทธิล
(chlorimuron ethyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช sulfonylurea ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 4,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุกและกกบางชนิด
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ถั่วเหลือง
สูตรผสม 25% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก
ข้อควรรู้ - หลีกเลี่ยงอย่าให้ถูกกับผิวหนัง ดวงตาและเสื้อผ้า
- ถ้าเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ และถ้าเกิดอาการระคายเคืองให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น