บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำชื่อสารเคมี(ชื่อสามัญ) ชนิดต่างๆ
มาเผยแพร่ให้เกษตรกร,ผู้สนใจ,ฯลฯ ได้รู้ถึงประโยชน์, อันตราย, และความเป็นพิษ
เพื่อจะได้เลือกใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง(ในกรณีที่จำเป็น) มิได้ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้อ่านใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เพียงแต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ก็ควรใช้อย่างรู้คุณและโทษของมันอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรและผู้ใช้เองต้องตกเป็นเหยื่อของพิษ ภัยจากการใช้สารเคมีโดยมิได้รู้แจ้ง ซึ่ง ทางผู้โพสหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย สำหรับท่านที่มีเพื่อน,มิตร,ญาติสนิท,ฯลฯ ที่ทำเกษตร หรือเกี่ยวข้องทางด้านนี้อยู่ ก็รบกวนช่วยนำไปเผยแพร่นะครับ ผมเองได้ข้อมูลมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำการเกษตรอยู่ จาก หนังสือ "สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย" เป็นหนังสือที่หาค่อนข้างยาก ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์อีกหรือไม่ แต่ข้อมูลก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรักต้นไม้,เกษตรกร,หรือคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบกัน
(นายยักษ์เขียว)
คิวปรัส อ๊อกไซด์
(cuprous oxide)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราอนินทรีย์ (inorganic) ออกฤทธิ์ให้ผลทางด้านป้องกันโรคพืชและใช้คลุกเมล็ด
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 470 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคสแคป (Scab) โรคสมัท (Smuts) โรคใบไหม้ โรคเน่าคอดิน โรคเน่าสีน้ำตาลและสีดำ โรคใบจุด (Leaf spot) โรคราสนิม โรคราน้ำค้างและอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ส้ม กล้วย ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด กะหล่ำปลี แตงแคนตาลูป แครอท กะหล่ำดอก คื่นฉ่าย กาแฟ โกโก้ แตงกวา มะเขือ กระเทียม องุ่น คะน้า หอม พริกไทย มันฝรั่ง ฟักทอง สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ พืชสวน ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำ กวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืชทุก 7-10 วัน จนถึงระยะก่อนเก็บเกี่ยว หรือใช้โดยวิธีคลุกเมล็ดเพื่อป้องกันโรคพืชก็ได้
ข้อควรรู้ - ผสมกับ Lime sulfur ไม่ได้
- ผสมได้กับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ เกือบทั้งหมด
- ไม่มีอันตรายต่อผึ้ง
ไซโคลเฮ็กซิไมด์
(cycloheximide)
การออกฤทธิ์ เป็นสารปฏิชีวนะ (antibiotic) กำจัดเชื้อราที่เกิดกับใบพืช ออกฤทธิ์ให้ผลในทางรักษาโรคพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 2 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังมีอาการระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราแป้ง โรคราสนิม โรคใบจุด โรคกาบใบแห้ง โรคกาบใบเน่า โรคถอดฝักดาบของข้าว โรคเน่า โรคยอดเน่าและโรคอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ข้าว ทุเรียน พริก องุ่น เผือก มะเขือเทศ ขิง แตงโม ฝ้าย ส้ม มะนาว หอม กระเทียมและพืชอื่น
สูตรผสม 2.1% ผง และ 0.27% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 30-60 กรัม ผสมกับน้ำ กวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช ใช้ซ้ำได้ตามความจำเป็น
อาการเกิดพิษ ผู้ได้รับพิษจะมีอาการผิวหนังอักเสบ บวมแดง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการท้องเสีย
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังหรือดวงตาให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าปากหรือกลืนกินเข้าไปต้องรีบทำให้อาเจียนโดยเร็วด้วยการล้วงคอ หรือให้ดื่มน้ำสบู่หรือน้ำเกลืออุ่น จนกว่าอาเจียนที่ออกมาจะใส แล้วนำคนไข้ส่งแพทย์ ในระหว่างนี้ อย่าให้อาหารที่มีไขมัน นม และอาหารที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่แก่คนไข้ ควรให้คนไข้กินถ่านยาแอ๊คติเวทเต็ด ซาร์โคล เพื่อดูดซับพิษ สำหรับแพทย์ ควรล้างท้องคนไข้แล้วให้ยา Hydrocortisone ขนาด 1 มก./กก. ทาง IV ยาอย่างอื่นที่ใช้ได้คือ Epinephrine และ Orthoxine รักษาตามอาการต่อไป
ข้อควรรู้ - เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ (Byproduct) จากการผลิต streptomycin
- ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อราได้แม้จะมีความเข้มข้นต่ำ
- ระยะเวลาที่คาดหมายว่าจะให้ผลในการควบคุมโรคพืช ประมาณ 7-10 วัน
ไซม๊อกซานิล
(cymoxanil)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา acetimide , urea ออกฤทธิ์ให้ผลในด้านป้องกันและรักษาโรคพืช เป็นตัวขัดขวางการสร้างสปอร์ของเชื้อรา
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,100 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 3,000 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาเกิดอาการระคายเคืองได้
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราน้ำค้าง โรค Late blight โรค Dead arm และโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อ Peronospora , Phythopthora และ Plasmopara spp.
พืชที่ใช้ องุ่น มันฝรั่ง มะเขือเทศและผักต่าง ๆ
สูตรผสม 50% และ 80% ดับบลิวพี
ข้อควรรู้ - ห้ามใช้ผสมกับ มาเน็บ (maneb)
- กำจัดเชื้อราในดินไม่ได้ผล
- การออกฤทธิ์ให้ผลใน 3 ทาง คือ ในทางป้องกัน ในทางรักษาภายหลังจากที่พืชเป็นโรคแล้วและขัดขวางการสร้างสปอร์ของเชื้อรา
- ออกฤทธิ์เฉพาะจุดที่ยาสัมผัสถูก
- ไม่เป็นอันตรายต่อผึ้ง ฤทธิ์ตกค้างสั้น และสลายตัวภายใน 4-6 วัน
- ในประเทศไทยมีจำหน่ายเฉพาะในรูปผสมกับสารกำจัดเชื้อราชนิดอื่น คือ ไซม๊อกซานิล ผสมกับ แมนโคเซ็บ (8 + 64%)
ดาโซเม็ท
(dazomet)
การออกฤทธิ์ เป็นสารรมดินเพื่อกำจัดเชื้อรา ไส้เดือนฝอยและวัชพืช ตลอดจนแมลงในดิน
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 640 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังและดวงตาระคายเคือง
ศัตรูพืชที่กำจัดได้ - เชื้อรา Pythium , Fusarium , Phythophthora , Rhizoctonia Verticillium spp. และอื่น ๆ
- ไส้เดือนฝอย ไส้เดือนรากปม (Root knot) และอื่น ๆ
- แมลงที่อยู่ในดินและวัชพืชทั้งใบแคบและใบกว้าง
พืชที่ใช้ ยาสูบ ผัก ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 98% จี
อัตราใช้และวิธีใช้ โดยทั่วไปเมื่อใช้รมดินหรือแปลงเพาะกล้าลึก 20-25 ซม. จะใช้อัตราแตกต่างกันดังนี้
1. ถ้าเป็นดินทรายหรือดินร่วนปนทราย ใช้ 350-400 กรัม/10 ตารางเมตร
2. ถ้าเป็นดินร่วนหรือมีอินทรียวัตถุสูง ใช้อัตรา 450-500 กรัม/10 ตารางเมตร
ศึกษารายละเอียดการใช้เพิ่มเติมจากฉลาก ก่อนใช้
อาการเกิดพิษ ถ้าถูกผิวหนังจะมีอาการระคายเคืองหรือเกิดอาการแพ้ที่บริเวณผิวหนังนั้นได้
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่จำนวนมาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไป ทำให้อาเจียนหรือให้กินถ่านยาแอ๊คติเวทเต็ด ซาร์โคล แล้วตามด้วยยาถ่ายประเภทเกลือ เช่น โซเดียมซัลเฟท ห้ามให้ยาถ่ายที่มีน้ำมันผสม หรืออาหารที่มีไขมันหรือนม ถ้ามีอาการรุนแรง ให้นำส่งแพทย์ต่อไป สำหรับแพทย์ ต้องล้างท้องคนไข้ในกรณีที่กินเข้าไป ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - อย่าใช้ในสภาพที่มีอากาศร้อน
- เป็นพิษต่อพืชทุกชนิดที่ปลูกและพิษนี้จะหมดไปภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์
- ถ้าเก็บไว้ในสภาพที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส จะเสื่อมคุณภาพ
- ภายหลังใช้ 10-15 นาที จะแตกตัวเป็น methyl isothiocyanate formaldehyde , hydrogen sulfide & monomethylamide
- ไม่สะสมในดิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น