มาเผยแพร่ให้เกษตรกร,ผู้สนใจ,ฯลฯ ได้รู้ถึงประโยชน์, อันตราย, และความเป็นพิษ
เพื่อจะได้เลือกใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง(ในกรณีที่จำเป็น) มิได้ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้อ่านใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เพียงแต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ก็ควรใช้อย่างรู้คุณและโทษของมันอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรและผู้ใช้เองต้องตกเป็นเหยื่อของพิษ ภัยจากการใช้สารเคมีโดยมิได้รู้แจ้ง ซึ่ง ทางผู้โพสหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย สำหรับท่านที่มีเพื่อน,มิตร,ญาติสนิท,ฯลฯ ที่ทำเกษตร หรือเกี่ยวข้องทางด้านนี้อยู่ ก็รบกวนช่วยนำไปเผยแพร่นะครับ ผมเองได้ข้อมูลมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำการเกษตรอยู่ จาก หนังสือ "สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย" เป็นหนังสือที่หาค่อนข้างยาก ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์อีกหรือไม่ แต่ข้อมูลก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรักต้นไม้,เกษตรกร,หรือคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบกัน
(นายยักษ์เขียว)
ไดทาลิมฟอส
(ditalimfos)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา organophosphorous ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส ให้ผลในทางป้องกันและกำจัดให้หมดสิ้นไป
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 4,930 มก./กก. (หนูตัวเมีย) อาจทำให้ดวงตาและผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราแป้งและโรคสแค๊ป (Scab)
พืชที่ใช้ ไม้ผลทั่วไป กุหลาบ พืชตระกูลแตง ผักต่าง ๆ และธัญพืช
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี และ 20% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดี แล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช ใช้ซ้ำได้ทุก 7-14 วัน
ข้อควรรู้ - เป็นพิษต่อปลาเล็กน้อย
- ไม่เป็นพิษต่อผึ้ง
โดดีมอร์ฟ อะซีเตท
(dodemorph acetate)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราประเภทดูดซึม โดยการฉีดพ่นทางใบ
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลัน 3,700 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังและดวงตาเกิดอาการระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราแป้ง โรคราสนิม และโรคจุดดำ (Black spot)
พืชที่ใช้ กุหลาบ และไม้ดอก ไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 40% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ฉีดพ่นที่ใบพืชเมื่อพบเห็นโรคบนใบ ใช้ซ้ำได้ทุก 10-14 วัน
ข้อควรรู้ - ไม่เป็นพิษต่อผึ้ง
- อาจใช้ผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ ได้
- ออกฤทธิ์ทั้งในทางป้องกันและกำจัดโรคพืช
โดดีน
(dodine)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา Gaunidine หรือ aliphatic nitrogen ออกฤทธิ์ให้ผลในทางป้องกันและกำจัดโรคพืชให้หมดสิ้นไป (Eradicant)
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 1,500 มก./กก. ทำให้ผิวหนัง ดวงตาและระบบหายใจระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคสแคป (Scab) โรคใบจุด โรคเน่าสีน้ำตาล โรคผลเน่า โรคใบม้วน และโรคใบไหม้เกรียม (Leaf scorch)
พืชที่ใช้ แอปเปิล เชอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ หอม ผักต่าง ๆ ไม้ดอก ไม้ประดับและไม้ผลทั่วไป
สูตรผสม 65% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช ก่อนที่อาการของโรคจะปรากฏให้เห็น ใช้ซ้ำได้ทุก 5-10 วัน
การแก้พิษ ในกรณีที่เกิดพิษขึ้นมา ให้รักษาคนไข้ตามอาการที่ปรากฏ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้ - ผสมกับ chlorobenzilate ปูนขาว (Lime) น้ำมัน (Oils) และสารกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในรูปน้ำมันผสมน้ำ (อีซี) ไม่ได้
- ไม่เป็นพิษต่อผึ้ง
- ออกฤทธิ์ในทางดูดซึมเฉพาะที่
อีดิเฟนฟอส
(edifenphos)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา organophosphorous ที่ให้ผลในทางป้องกันรักษาและกำจัดโรคพืชให้หมดไป
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 150 มก./กก. ทางผิวหนัง (หนู) 700-800 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคกาบใบแห้ง (Blast) โรคใบไหม้ (Leaf blight) โรคเมล็ดด่างและโรคต้นเน่า
พืชที่ใช้ ข้าว
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 12-20 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากฉลากก่อนใช้
อาการเกิดพิษ ถ้าถูกผิวหนังและสูดดมเข้าไปมาก ๆ หรือกลืนกินเข้าไปทางปาก อาการของพิษจะปรากฏดังนี้ มึนงง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย กระวนกระวาย เปลือกตาและปลายลิ้นสั่น ม่านตาหรี่ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลาย น้ำตาและเหงื่อออกมากผิดปกติ ปวดท้อง ชีพจรเต้นช้า กล้ามเนื้อเกร็ง ถ้าพิษรุนแรงจะมีอาการหายใจลำบาก ปอดบวม ขาดออกซิเจน ตัวเขียวคล้ำ ชักและตายเนื่องจากหัวใจไม่ทำงาน
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังต้องรีบล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาต้องล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ถ้าเข้าปากให้รีบนำส่งแพทย์ทันที สำหรับแพทย์ ยาแก้พิษคือ อะโทรปินซัลเฟท หรือ จะใช้ยา PAM และ Toxogonin รักษาร่วมด้วยก็ได้ ห้ามใช้ Morphine , theophylline , Aminophylline , barbiturates , Phenothiazines & Respiratory depressants
ข้อควรรู้ - ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 21 วัน
- อย่าใช้ก่อนหรือหลังการใช้ propanil ในระยะเวลา 10 วัน
- อย่าผสมกับสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
- เป็นพิษต่อปลา
- ผสมได้กับสารกำจัดศัตรูพืชอย่างอื่นที่ใช้กันทั่วไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น