บท ความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำ ชื่อสารเคมี(ชื่อสามัญ) ชนิดต่างๆ มาเผยแพร่ให้เกษตรกร,ผู้สนใจ,ฯลฯ ได้รู้ถึงประโยชน์, อันตราย, และความเป็นพิษเพื่อจะได้เลือกใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง(ในกรณีที่จำเป็น) มิได้ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้อ่านใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เพียงแต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ก็ควรใช้อย่างรู้คุณและโทษของมันอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรและผู้ใช้เองต้องตกเป็นเหยื่อของพิษ ภัยจากการใช้สารเคมีโดยมิได้รู้แจ้ง ซึ่ง ทางผู้โพสหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย สำหรับท่านที่มีเพื่อน,มิตร,ญาติสนิท,ฯลฯ ที่ทำเกษตร หรือเกี่ยวข้องทางด้านนี้อยู่ ก็รบกวนช่วยนำไปเผยแพร่นะครับ ผมเองได้ข้อมูลมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำการเกษตรอยู่ จาก หนังสือ "สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย" เป็นหนังสือที่หาค่อนข้างยาก ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์อีกหรือไม่ แต่ข้อมูลก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรักต้นไม้,เกษตรกร,หรือคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบกัน
(นายยักษ์เขียว)
ฟีโนซาพรอพ - เอ็ทธิล
(fenoxaprop - ethyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 3,310 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก. ทำให้ผิวหนังระคายเคืองเล็กน้อย และดวงตาระคายเคืองปานกลาง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชตระกูลหญ้าทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา มันฝรั่ง ยาสูบและพืชใบกว้างอีกหลายชนิด
สูตรผสม อยู่ในรูปผสมน้ำมัน (อีซี)
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก โดยใช้ฉีดพ่นเมื่อหญ้างอกแล้วเป็นส่วนมาก
การแก้พิษ ยาแก้พิษโดยเฉพาะไม่มี ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ ทันที เป็นเวลานาน 1 นาที ถ้ากินเข้าไป อย่าทำให้คนไข้อาเจียน นำคนไข้ส่งแพทย์ทันที
ฟีนูรอน
(fenuron)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 6,400 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ ไม้ยืนต้นและต้นไม้ที่มีรากหยั่งลึก
ฟลูอะซีฟอพ-บูทิล
(fluazifop-butyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช phenoxy , trifluoromethyl , pyridine ประเภทเจาะจงพืชและดูดซึมกำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 3,328 มก./กก. ทางผิวหนัง (หนู) มากกว่า 2,420 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชตระกูลหญ้าล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ฝ้าย มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ส้ม องุ่น กาแฟ หอม กล้วย ผักต่าง ๆ และพืชใบกว้างทั่วไป
สูตรผสม 35% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำและฉีดพ่นที่วัชพืชโดยตรง จะให้ผลดีในระยะที่วัชพืชมีใบ 2-4 ใบ
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - เป็นพิษต่อปลา
- ออกฤทธิ์ช้า เคลื่อนย้ายในลำต้นจากใบไปสู่ราก
ฟลูโอมีทูรอน
(fluometuron)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช trifluoromethyl;urea ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 8,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 10,000 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาระคายเคืองปานกลาง แต่ผิวหนังจะไม่ระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุกและหญ้าต่าง ๆ
พืชที่ใช้ ฝ้ายและอ้อย
สูตรผสม 50% และ 80% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ฉีดพ่นควบคุมการงอกและกำจัดวัชพืชในระยะเริ่มงอก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - กำจัดวัชพืชยืนต้นไม่ได้
- เมื่อใช้กำจัดวัชพืชในไร่ฝ้าย ห้ามปลูกพืชอย่างอื่นภายหลังปลูกฝ้ายในปีเดียวกัน
- พืชที่อ่อนแอต่อสารกำจัดวัชพืชนี้ ได้แก่ ถั่วเหลือง มะเขือเทศ พืชตระกูลถั่วและแตง
- อย่าใช้เกินกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี บนพื้นที่เดียวกัน
- เมื่อใช้กับฝ้าย อย่าใช้ร่วมกับสารกำจัดแมลงประเภทดูดซึม
- ให้ผลในการควบคุมวัชพืชได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น