วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

สารกำจัดวัชพืช(ยาฆ่าหญ้า) ตอนที่ 19

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำ ชื่อสารเคมี(ชื่อสามัญ) ชนิดต่างๆ  มาเผยแพร่ให้เกษตรกร,ผู้สนใจ,ฯลฯ ได้รู้ถึงประโยชน์, อันตราย, และความเป็นพิษเพื่อจะได้เลือกใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง(ในกรณีที่จำเป็น) มิได้ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้อ่านใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เพียงแต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี  ก็ควรใช้อย่างรู้คุณและโทษของมันอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรและผู้ใช้เองต้องตกเป็นเหยื่อของพิษ ภัยจากการใช้สารเคมีโดยมิได้รู้แจ้ง ซึ่ง ทางผู้โพสหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย  สำหรับท่านที่มีเพื่อน,มิตร,ญาติสนิท,ฯลฯ ที่ทำเกษตร หรือเกี่ยวข้องทางด้านนี้อยู่ ก็รบกวนช่วยนำไปเผยแพร่นะครับ ผมเองได้ข้อมูลมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำการเกษตรอยู่ จาก หนังสือ "สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย"  เป็นหนังสือที่หาค่อนข้างยาก ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์อีกหรือไม่ แต่ข้อมูลก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรักต้นไม้,เกษตรกร,หรือคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบกัน
 (นายยักษ์เขียว)


อ๊อกซาไดอะโซน
(oxadiazon)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืช  oxadiazon  ประเภทเจาะจงพืช  กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก  ดูดซึมเข้าไปในลำต้นได้โดยส่วนต่าง ๆ  ของพืชที่อยู่เหนือพื้นดิน  ออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อมีแสงแดด
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  มากกว่า  8,000  มก./กก.  ทางผิวหนัง  มากกว่า  8,000  มก./กก.  อาจทำให้ดวงตาเกิดอาการระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้         ผักแว่น  ผักปอดนา  แพงพวยน้ำ  ขาเขียด  หญ้านกสีชมพู  หญ้าตีนติด  หญ้าตีนกา  หญ้าโขย่ง  กกขนาก  กกทราย  วัชพืชใบแคบและวัชพืชใบกว้างล้มลุกอื่น ๆ
พืชที่ใช้                   ฝ้าย  ข้าว  ถั่วเหลือง  กะหล่ำปลี  กระเทียม  หอมและมะเขือเทศ
สูตรผสม                  25อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้        สำหรับกำจัดวัชพืชในนาข้าว  ใช้อัตรา  320-640  ซีซี  ผสมกับน้ำ  20-60  ลิตร/ไร่  ฉีดพ่นลงในนาข้าวให้ทั่วแปลง  สำหรับพืชอื่น ๆ  ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
อาการเกิดพิษ            ถ้าเข้าตา  จมูกหรือผิวหนัง  จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง  ถ้าเข้าปากอาจจะมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน
การแก้พิษ                ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ  1ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่จำนวนมาก ๆ  ถ้ากลืนกินเข้าไปและผู้ป่วยมีสติดีอยู่  ห้ามทำให้อาเจียน  ใช้น้ำล้างปากมาก ๆ  แล้วนำผู้ป่วยส่งแพทย์  เพื่อทำการล้างท้อง  แล้วรักษาตามอาการ  ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้                    - กำจัดวัชพืชใบกว้างได้ดีกว่าใบแคบ
                             - มีความคงตัวในดินปานกลาง  จึงสามารถควบคุมวัชพืชได้ตลอดฤดูปลูก
                             - ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส  เมื่อใช้กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก

อ๊อกซี่ฟลูออร์เฟน
(oxyfluorfen)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืช  diphenyl  ether : trifluoromethyl  ประเภทเจาะจงพืช  กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก  ออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อถูกแสงแดด  ดูดซึมผ่านทางใบหรือทางหน่อได้มากกว่าทางราก
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  มากกว่า  5,000  มก./กก.  ทางผิวหนัง  (กระต่าย)  มากกว่า  10,000  มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้         หญ้าตีนติด  หญ้าตีนนก  หญ้าตีนกา  หญ้าปากควาย  หญ้าไม้กวาด  หญ้าเขมร  ไมยราบ  วัชพืชใบแคบและใบกว้างล้มลุกอื่น ๆ
พืชที่ใช้                   หอม  หอมใหญ่  กระเทียม  พืชตระกูลถั่ว  ข้าวไร่  พืชตระกูลกะหล่ำ  พริก  ยาสูบ  มะเขือเทศ  ขิง  มันสำปะหลังและอ้อย
สูตรผสม                  23.5อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้        โดยทั่วไปใช้อัตรา  40-80  ซีซี  ผสมกับน้ำ  20  ลิตร  ฉีดพ่นคลุมดินที่เตรียมไว้เพื่อปลูก  ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากฉลากก่อนใช้
อาการเกิดพิษ            ผู้ได้รับพิษจะมีอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง  ตา  ทางเดินหายใจ  คลื่นไส้  วิงเวียน  และอาเจียน
การแก้พิษ                ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ  ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ  ครั้ง  ถ้าเข้าปากห้ามทำให้คนไข้อาเจียน  ควรนำคนไข้ส่งแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ  ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้                    - เป็นพิษต่อปลา
                             - กำจัดวัชพืชใบกว้างได้ดีกว่าใบแคบ
                             - เมื่อวัชพืชสัมผัสถูกกับสารกำจัดวัชพืชนี้ในระหว่างการงอกจะถูกฆ่าตาย

โอรีซาลิน
(oryzalin)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืช  dinitroanilide  ประเภทเจาะจงพืช  กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  มากกว่า  10,000  มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้         วัชพืชใบแคบและใบกว้างประเภทล้มลุก
พืชที่ใช้                   ถั่วเหลือง  ถั่วลันเตา  ฝ้าย  มันฝรั่งและพื้นที่ ๆ  ไม่ได้ทำการเพาะปลูก
สูตรผสม                  70ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้        ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
ข้อควรรู้                    - เป็นพิษต่อปลา
                             - อย่าใช้กับดินที่มีอินทรียวัตถุสูงกว่า  5%
                             - ให้ใช้เพียงหนึ่งครั้งต่อหนึ่งฤดูปลูก
                             - อย่าปลูกพืชหัวในพื้นที่ที่ใช้สารนี้ภายในระยะเวลา  12  เดือน  หลังจากใช้

พาราคว๊อท
(paraquat)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืช  bipyridium  ประเภทไม่เจาะจงพืช  กำจัดวัชพืชภายหลังงอก  ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส  มีคุณสมบัติเป็นตัวดูดน้ำและหมดฤทธิ์อย่างรวดเร็วเมื่อถูกกับดิน
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  150  มก./กก.  ทางผิวหนัง  236  มก./กก.  จะตายเมื่อกลืนกินเข้าไป
วัชพืชที่กำจัดได้         วัชพืชทุกชนิด  โดยเฉพาะจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดส่วนที่มีสีเขียวของพืช
พืชที่ใช้                   ใช้กำจัดวัชพืชตามไร่มันสำปะหลัง  อ้อย  ข้าวโพด  สวนผลไม้  กล้วย  ยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  ตามคันนา  บริเวณโรงงาน  ริมทางรถไฟและคันคูคลอง
สูตรผสม                  27.6แอล
อัตราใช้และวิธีใช้        โดยทั่วไปใช้อัตรา  60-80  ซีซี  ผสมกับน้ำ  20  ลิตร  ฉีดพ่นที่ใบและต้นวัชพืชโดยตรงควรใช้ในขณะที่มีแสงแดดซึ่งจะช่วยให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
อาการเกิดพิษ            พิษจากการสูดดมจะมีอาการแน่นหน้าอกและในช่องท้อง  คลื่นไส้  อาเจียน  อ่อนเพลีย  วิงเวียน  หายใจขัด  ปอดบวมและอาจตายเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว  ถ้าเข้าตาหรือถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและอักเสบ  ถ้าวัตถุมีพิษเข้มข้นมาก ๆ  อาจทำให้เล็บหลุด  ถ้าเข้าตา  แก้วตาจะหลุดออกมาทำให้เกิดอาการรุนแรงตามมา  ถ้าเข้าปากหรือกลืนกินเข้าไป  ภายในปากจะระคายเคืองตลอดถึงลำคอ  ทางเดินอาหารอักเสบและแสบร้อนคลื่นไส้  อาเจียน  ท้องปั่นป่วน  ไม่สบายและท้องเสีย  เหงื่อออกมาก  ประสาทส่วนกลางได้รับผลกระทบกระเทือน  มีอาการกระสับกระส่าย  ระบบหายใจล้มเหลว  เซลตับและไตถูกทำลายและตายในที่สุด
การแก้พิษ                ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ  ถ้าเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ๆ  ถ้าเข้าปากหรือกลืนกินเข้าไป  ควรรีบทำให้อาเจียนทันทีด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น  แล้วนำส่งแพทย์  ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ  รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้                    - จะหมดฤทธิ์ทันทีเมื่อถูกกับดิน  ไม่มีฤทธิ์ตกค้าง
                             - มีพิษต่อปลาน้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น