วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

สารกำจัดวัชพืช(ยาฆ่าหญ้า) ตอนที่ 20

บท ความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำ ชื่อสารเคมี(ชื่อสามัญ) ชนิดต่างๆ  มาเผยแพร่ให้เกษตรกร,ผู้สนใจ,ฯลฯ ได้รู้ถึงประโยชน์, อันตราย, และความเป็นพิษเพื่อจะได้เลือกใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง(ในกรณีที่จำเป็น) มิได้ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้อ่านใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เพียงแต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี  ก็ควรใช้อย่างรู้คุณและโทษของมันอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรและผู้ใช้เองต้องตกเป็นเหยื่อของพิษ ภัยจากการใช้สารเคมีโดยมิได้รู้แจ้ง ซึ่ง ทางผู้โพสหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย  สำหรับท่านที่มีเพื่อน,มิตร,ญาติสนิท,ฯลฯ ที่ทำเกษตร หรือเกี่ยวข้องทางด้านนี้อยู่ ก็รบกวนช่วยนำไปเผยแพร่นะครับ ผมเองได้ข้อมูลมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำการเกษตรอยู่ จาก หนังสือ "สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย"  เป็นหนังสือที่หาค่อนข้างยาก ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์อีกหรือไม่ แต่ข้อมูลก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรักต้นไม้,เกษตรกร,หรือคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบกัน
 (นายยักษ์เขียว)


โปรพานิล
(propanil)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืช  acetamide  ประเภทเจาะจงพืช  กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอกโดยทางสัมผัสในช่วงระยะเวลาอันสั้น
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  1,385  มก./กก.  ทางผิวหนัง  มากกว่า  7,000  มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้         หญ้าข้าวนก  หญ้านกสีชมพู  หญ้าหนวดปลาดุก  กกขนาก  หญ้าทรงกระเทียม  ผักแว่น  วัชพืชใบแคบและใบกว้างอื่น ๆ
พืชที่ใช้                   ข้าว  มันฝรั่ง  ข้าวสาลี
สูตรผสม                  36อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้        โดยทั่วไปใช้อัตรา  1.5-2  ลิตร  ผสมกับน้ำ  80  ลิตร  ฉีดพ่นให้คลุมพื้นที่  1  ไร่  โดยใช้ในช่วงระยะที่พืชงอกแล้วและมีใบ  2-4  ใบ
อาการเกิดพิษ            เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง  ถ้าสูดดมเข้าไปมาก ๆ  จะทำให้หายใจไม่ออก  ถ้ากลืนกินเข้าไป  จะร้อนภายในปาก  ลำคอ  กระเพาะ  ไอ  คลื่นไส้  อาเจียน  ปวดศีรษะ  วิงเวียน  ง่วงและหมดสติ
การแก้พิษ                ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่ทันที  ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดมาก ๆ  ถ้ากลืนกินเข้าไป  ทำให้คนไข้อาเจียนทันที  จนเหลือแต่น้ำหรือของเหลวใส  แล้วรักษาตามอาการ  ห้ามให้อาหารประเภทที่มีไขมัน  น้ำมัน  แอลกอฮอล์  กับคนไข้
ข้อควรรู้                    - เป็นพิษต่อปลา
                             - ละอองโปรพานิลจะทำความเสียหายให้กับฝ้าย  ข้าวโพด  มะเขือเทศ  ถั่วเหลือง  ทานตะวัน  ผักต่าง ๆ  แตงกวา  พืชพวกถั่วและใบพืชกว้างอื่น ๆ
                             - อย่าใช้ในช่วงที่มีอากาศร้อนหรือเย็นจัด
                             - อย่าใช้ถ้าคาดหมายว่าจะมีฝนตกภายใน  5-6  ชั่วโมง
                             - อย่าใช้สารคาร์บาริลหรือสารกำจัดแมลงพวกฟอสเฟทอื่น ๆ กับพืชที่ถูกฉีดพ่นด้วยโปรพานิลแล้ว  ภายใน  14  วัน
                             - อย่าใช้ผสมกับปุ๋ยน้ำ
                             - ไม่มีฤทธิ์ตกค้าง
                             - ความรวดเร็วในการฆ่าวัชพืชจะเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น

โปรปาควิซาฟอพ
(propaquizafop)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืชภายหลังงอก
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก
วัชพืชที่กำจัดได้         วัชพืชประเภทใบแคบพวกหญ้า  ได้แก่  หญ้าข้าวนก  หญ้านกสีชมพู  หญ้าตีนกา  หญ้าตีนนก  หญ้าดอกขาว
พืชที่ใช้                   ใช้กำจัดวัชพืชในแปลงถั่วเหลือง
สูตรผสม                  10อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้        ใช้อัตรา  20-30  ซีซี  ผสมน้ำ  20  ลิตร  ฉีดพ่นให้ทั่วแปลงถั่วเหลืองในพื้นที่  1  งาน  พ่นเมื่อถั่วเหลืองอายุอยู่ในช่วง  14-21  วัน  หลังปลูกและวัชพืชมีใบไม่เกิน  2-3  ใบ
อาการเกิดพิษ            ยังไม่ทราบอาการเกิดพิษที่เกิดกับคน
การแก้พิษ                รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีการใช้  ให้พักผ่อนในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี  หากเกิดอาการที่ผิวหนัง  ให้ล้างออกด้วยสบู่และน้ำจำนวนมาก ๆ  หากเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำ  และรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที  หากกลืนกินเข้าไปให้ดื่มสารละลายถ่าน  ultra  carbon  ถ้าผู้ป่วยหมดสติ  ห้ามให้ยาทางปาก  รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที  รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้                    - เป็นพิษต่อปลา

ไพริเดท
(pyridate)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืช  pyridazine  ประเภทเจาะจงพืช  กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก  โดยทางสัมผัสดูดซึมได้ทางใบ
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  ประมาณ  2,000  มก./กก.  ทางผิวหนัง  มากกว่า  3,400  มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้         วัชพืชใบกว้างและหญ้าบางชนิด  (โดยเฉพาะที่มีความต้านทานต่อสารอะทราซีน)
พืชที่ใช้                   ข้าวโพด  ข้าว  ธัญพืชและถั่วลิสง
สูตรผสม                  5อีซี  และ  50ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้        ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก  โดยใช้กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก  ในขณะที่วัชพืชอยู่ในระยะที่มีใบไม่เกิน  4  ใบ
การแก้พิษ                ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ  รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้                    - ออกฤทธิ์ช้า
                             - ฝนตกภายหลังใช้  จะไม่ทำให้ระดับการควบคุมวัชพืชลดลง
                             - ไม่เป็นอันตรายต่อพืชที่จะปลูกตามมาภายหลัง

ควินซาโลฟอพ-เอ็ทธิล
(quinzalofop-ethyl)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืช  quinoxaline : phenoxy  ประเภทเจาะจงพืช  กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก  ออกฤทธิ์ในทางดูดซึม
ความเป็นพิษ             มีพิษเฉียบพลันทางปาก  (หนู)  1,670  มก./กก.  ทางผิวหนัง  มากกว่า  10,000  มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้         วัชพืชใบแคบล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้                   พืชใบกว้าง  เช่น  ทานตะวัน  ถั่วเหลือง  ฝ้าย  และพืชผักอื่น ๆ
สูตรผสม                  10อีซี
การแก้พิษ                ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ  รักษาตามอาการ

ควินซาโลฟอพ-พี-เทฟูริล
(quinzalofop-p-tefuryl)
การออกฤทธิ์             เป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดเลือกทำลายเฉพาะวัชพืชใบแคบที่งอกจากเมล็ด  และใช้กำจัดวัชพืชภายหลังงอก
พืชที่กำจัดได้             หญ้านกสีชมพู  หญ้าข้าวนก  หญ้าปากควาย  หญ้าลูกเห็บ  หญ้าแพรก  หญ้ารังนก  หญ้าขจรจบ  และพืชตระกูลหญ้าอื่น ๆ
พืชที่ใช้                   ถั่วเหลือง  ถั่วทุกชนิด  ฝ้าย  และมันสำปะหลัง
สูตรผสม                  6อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้        ใช้อัตรา  40-60  ซีซี  ผสมน้ำ  20  ลิตร  ผสมให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่  1  งาน  หรือจะใช้  160-240  ซีซี  ผสมน้ำ  80  ลิตร  ฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่  1  ไร่  เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดควรฉีดพ่นวัชพืชที่งอกใบแล้ว  3-6  ใบ  หรือมีขนาดสูงประมาณ  15  ซม.
อาการเกิดพิษ            อาจทำให้ผิวหนัง  ดวงตา  เกิดอาการระคายเคืองได้
การแก้พิษ                ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ  ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ  ถ้าเข้าปากให้รีบทำให้อาเจียน  แล้วนำผู้ป่วยส่งแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น