โปรโพเซอร์
(propoxur)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดแมลงคาร์บาเมท ประเภทไม่ดูดซึม ออกฤทธิ์ในทางสัมผัสสูงและกินตาย มีฤทธิ์น๊อคแมลงได้อย่างรวดเร็วและอยู่ได้นาน cholinesterase inhibitor
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 70-200 มก./กก. ทางผิวหนัง (หนู) 500 มก./กก. (กระต่าย) 5,000 มก./กก.
ศัตรูพืชที่กำจัดได้ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ หนอนผีเสื้อขาว หนอนใยผัก มวนเขียวข้าว นอกจากนี้ยังใช้กำจัดแมลงศัตรูในบ้านเรือน เช่น แมลงสาบ มด แมลงวัน ยุง ไรและเห็บ
พืชที่ใช้ ส้ม ข้าว ผักต่าง ๆ มันฝรั่ง ฝ้าย อ้อย โกโก้ ถั่วเหลือง สวนผลไม้ ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 20% อีซี และ 50% ดับบลิวพี
อัตราการใช้ ชนิด 20% อีซี ใช้อัตรา 25-75 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ชนิด 50% ดับบลิวพี ใช้อัตรา 10-30 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร
วิธีใช้ ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดี แล้วฉีดพ่นให้ทั่วใบพืช เมื่อพบเห็นว่ามีแมลงศัตรูพืชครั้งแรก ฉีดซ้ำได้ตามความจำเป็น
อาการเกิดพิษ จะมีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดเกร็งช่องท้อง ม่านตาหรี่ เหงื่อออกมาก หายใจหอบ
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด ถ้าเข้าปากต้องรีบทำให้อาเจียนโดยเร็ว ด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น แล้วให้กินยาอะโทรปินซัลเฟท ขนาด 0.5 มก. 2 เม็ด พร้อมกับนำส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ ยาแก้พิษคือ อะโทรปินซัลเฟท
ข้อควรรู้ - ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 7-14 วัน
- เป็นอันตรายต่อผึ้ง เป็นพิษต่อปลา
- ผสมได้กับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ
โปรธิโอฟอส
(prothiofos)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดแมลงออร์กาโนฟอสโฟรัส ออกฤทธิ์ในทางสัมผัสและกินตาย cholinesterase inhibitor
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 925 มก./กก ทางผิวหนัง (หนู) มากกว่า 1,300 มก./กก.
ศัตรูพืชที่กำจัดได้ ใช้กำจัดหนอนผีเสื้อที่กัดกินใบพืช เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนม้วนใบ แมลงศัตรูพืชอื่น ๆ เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ กำจัดแมลงศัตรูในบ้านเรือน เช่น ยุงและแมลงวัน
พืชที่ใช้ องุ่น ส้ม ยาสูบ ชา ข้าวโพด มันฝรั่ง ผักตระกูลกะหล่ำและผักทั่วไป พริก มะเขือ ถั่วเขียว กล้วยไม้ ไม้ดอกและไม้ประดับ
สูตรผสม 50% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ กำจัดแมลงทั่ว ๆ ไปใช้อัตรา 20-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดี แล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช เมื่อพบเห็นแมลงศัตรูพืช ใช้ซ้ำได้ตามความจำเป็น
อาการเกิดพิษ จะมีอาการมึนงง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ม่านตาหรี่ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ปวดท้องเกร็ง น้ำตาและน้ำลายไหล เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อกระตุก ตัวเขียวคล้ำเพราะขาดออกซิเจน
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ถ้าเข้าปากและมีอาการเป็นพิษ ควรให้ผู้ป่วยกินยาอะโทรปินซัลเฟท ขนาด 1/100 เกรน 2 เม็ด ก่อนแล้วนำส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ ใช้ยาอะโทรปินซัลเฟท ขนาด 2-4 มก. ฉีดแบบ IV กับคนไข้ และฉีดซ้ำทุก 10-15 นาที จนอาการดีขึ้น 2PAM และ Toxogonin เป็นยาแก้พิษที่ใช้รักษาร่วมกับอะโทรปินได้
ข้อควรรู้ - ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 14 วัน
- เป็นพิษต่อปลาและผึ้ง
- เมื่ออยู่ในดินจะสลายตัวได้เร็วกว่า parathion
- คุมศัตรูพืชได้ประมาณ 12-20 วัน
- ผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ ได้
โปรโธเอท
(prothoate)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดแมลงและไรออร์กาโนฟอสโฟรัส ออกฤทธิ์ในทางสัมผัสและกินตาย
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 8 มก./กก.
ศัตรูพืชที่กำจัดได้ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไร และแมลงอื่น ๆ ที่เป็นศัตรูไม้ผล
พืชที่ใช้ ไม้ผล มะม่วง ฝ้าย อ้อย ยาสูบ องุ่น ส้ม พืชผัก ไม้ดอกและไม้ประดับ
สูตรผสม 40% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ศึกษารายละเอียดจากฉลากก่อนใช้
ข้อควรรู้ - ห้ามใช้ผสมกับสารที่มีฤทธิ์เป็นด่างสูง
- เป็นพิษต่อปลา
- ผสมได้กับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ
- ใช้กำจัดแมลงปากดูดได้ดีกว่าอย่างอื่น
ไพริดาเบ็น
(pyridaben)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดไร
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 435 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก.
ศัตรูพืชที่กำจัดได้ ไรศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ
พืชที่ใช้ ส้ม หอม กระเทียม ทุเรียน และไม้ผลต่าง ๆ
สูตรผสม 20% ดับบลิวพี
ควินนัลฟอส
(quinalphos)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดแมลงและไรออร์กาโนฟอสโฟรัส ออกฤทธิ์ในทางสัมผัสและกินตาย
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 62-71 มก./กก. ทางผิวหนัง (หนู) 1,750 มก./กก.
ศัตรูพืชที่กำจัดได้ หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบกะหล่ำ หนอนเจาะสมออเมริกัน หนอนผีเสื้อขาว หนอนใยผัก เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยแป้ง ไร เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย และอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ฝ้าย ส้ม ยาสูบ องุ่น ถั่วลิสง มันฝรั่ง ข้าว ชา พืชผัก และอื่น ๆ
สูตรผสม 1.5% ดี , 5% จี , 25% อีซี , 27.6% ยูแอลวี
อัตราการใช้ แตกต่างกันออกไปตามชนิดของสูตรผสม ชนิด 25% อีซี เมื่อใช้กำจัดแมลงทั่วไป ใข้อัตรา 20-40 ลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร ชนิด 5% จี ใช้อัตรา 3 กก./ไร่ ชนิดอื่น ๆ ให้ศึกษาอัตราการใช้จากฉลาก
วิธีใช้ ชนิด 25% อีซี ใช้ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดี แล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช ใช้ซ้ำได้ตามความจำเป็น ชนิด 5% จี ใช้หว่านให้ทั่วพื้นที่
อาการเกิดพิษ จะมีอาการมึนงง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย กระวนกระวาย ปลายลิ้นและเปลือกตามีอาการสั่น ม่านตาหรี่ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำตาและน้ำลายไหล เหงื่อออกมาก ปวดท้องเกร็ง ชีพจรเต้นช้า กล้ามเนื้อเกร็ง
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ๆ ถ้าเข้าปากและมีอาการเป็นพิษ ให้คนไข้กินยาอะโทรปินซัลเฟท ขนาด 1/100 เกรน ต่อ 2 เม็ด แล้วนำส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ ใช้ยาอะโทรปินซัลเฟท ขนาด 2-4 มก. ฉีดแบบ IV ให้กับคนไข้และฉีดซ้ำทุก 10-15 นาที จนกว่าคนไข้จะมีอาการดีขึ้น อาจใช้ 2-PAM รักษาร่วมกับอะโทรปินได้ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 7-21 วัน
- เป็นอันตรายต่อผึ้งและปลา
- ทำให้ดวงตาเกิดอาการระคายเคือง
- อย่าผสมกับสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
- ผสมได้กับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น